POPCAREER: รู้จัก ‘นักรีวิว’ อาชีพสุดป็อปคู่สังคมออนไลน์
POPCAREER: รู้จัก ‘นักรีวิว’ อาชีพสุดป็อปคู่สังคมออนไลน์
Business
4 นาที
21 ก.ย. 2021
แชร์
Table of contents
หากพูดถึงอาชีพมาแรงในฝันของเด็กๆ และวัยรุ่นหลายคนยุคนี้ เชื่อเลยว่าต้องมีคนนึกถึงหนึ่งในอาชีพสุดฮอตมาแรง อย่างอาชีพ “นักรีวิว” ที่เรามักจะเห็นกันตามสื่อโซเชียลมีเดีย และ Video Platform ต่างๆ อาทิ Youtube Tiktok Instragram ฯลฯ วันนี้เรามาเจาะกันดีกว่าว่าจุดกำเนิดของอาชีพนี้คืออะไร ทำเงินได้อย่างไร และหากอยากเป็น “นักรีวิว” ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
ย้อนกลับไป สำหรับคนที่เล่นอินเทอร์เน็ตมาสักพัก 10-20 ปีคงจะต้องผ่านยุครุ่งเรืองของเว็บบอร์ดชื่อดังของไทย อย่าง Pantip.com ที่เป็นแหล่งรวม Content รีวิวสุดคลาสสิคก่อนที่โซเชียลมีเดียจะแพร่หลาย ถือเป็นแหล่งข้อมูล และเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนความรู้กัน ในระยะหลัง จึงเริ่มมี Content ที่มักเรียกกันว่า SR หรือ Sponsored ซึ่งแปลว่าแบรนด์สนับสนุนค่าใช้บริการ หรือให้สินค้ามาใช้ฟรี เพื่อแลกกับการรีวิวลงสื่อ แสดงให้เห็นถึงพลังของการ “รีวิว” ที่เหล่าแบรนด์ต่างมองเห็นความสำคัญ
เมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตพวกเรา ทำให้คนมี “สื่อ” ในมือเป็นของตัวเองเยอะและง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีความผูกพันในแง่ตัวตนมากกว่าการเขียน Blog หรือตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ด มีการสร้างฐานผู้ติดตามที่เหนียวแน่นได้ดี จนเกิด Royalty ต่อบุคคล ทำให้เกิดอิทธิพลต่อการเลือกบริโภคได้ง่าย การรีวิวจึงเริ่มย้ายมาสู่โลกโซเชียลมีเดียมากขึ้น จนกำเนิดเป็นอาชีพ “นักรีวิว” อย่างจริงจังอย่างทุกวันนี้
หลายๆคน อาจจะพอทราบมาบ้างว่านักรีวิวมีโอกาสได้ กินฟรี เที่ยวฟรี ทว่านอกจากได้ของฟรีแล้ว “นักรีวิว” เขาทำเงินกันได้อย่างไร?
จริงๆ คำตอบก็ต้องกลับไปที่เรื่องการสร้าง “ตัวตน” และ “ฐานแฟนคลับ” เพราะสองสิ่งนี้เองที่จะเป็น Key สำคัญในการสร้างมูลค่า “ค่าตัว” ของนักรีวิวแต่ละท่าน ยิ่งมีคนติดตามเยอะยิ่งมีค่าตัวสูง นอกจากนี้ลักษณะภาพลักษณ์ของตัวนักรีวิวก็มีความสำคัญเช่นกัน หลายๆ แบรนด์ก็มักจะนำจุดนี้มาพิจารณาด้วย แต่ไม่ได้จริงจังเท่ากับการเลือกจ้าง Presenter ที่ค่อนข้างผูกพันกับภาพลักษณ์แบรนด์โดยตรง อย่างน้อยๆ ก็ไม่ควรจะเป็นนักรีวิวที่มีกระแสในทางลบในขณะนั้น
แต่หากมองประสบความสำเร็จไปอีกขั้น จะเห็นได้ว่านักรีวิวที่มีงานอย่างต่อเนื่อง และได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์อย่างสม่ำเสมอ มักจะเป็นคนที่มีภาพลักษณ์ดี ถึงดีมาก ไม่มีข่าวในแง่เสีย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ให้ความรู้ ให้ประโยชน์กับผู้คนจากการรีวิวจริงๆ
ตัวอย่างนักรีวิวไทยคุณภาพ
- คุณอู๋ Spin9 ใครที่เป็นสายชอบ Gadget และเทคโนโลยี คงจะรู้จักชื่อนี้เป็นอย่างดี คุณอู๋เป็น “นักรีวิวสาย Gadget” ที่มีชื่อเสียงมาก ด้วย Passion ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีจริงจัง จนเริ่มทำเว็บไซต์รีวิว Gadget มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จนภายหลังมีคนชวนไปทำรายการทีวี ควบคู่ไปกับการทำ Youtube Channel ของตัวเอง จนตอนหลังออกมาทำ Online Content อย่างเดียวเต็มตัว จนตอนนี้ก็มีผู้ติดตาม Channel กว่า 5 แสนคน
- คุณบูม Tharis ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างนักรีวิวคุณภาพของไทย โดยเนื้อหาหลักๆ ของช่อง Youtube คุณบูม มักจะพาไปรีวิวชม “บ้านและคอนโด” สุดหรู แม้สินค้าที่คุณบูมจะมีราคาที่สูงมาก จนคนธรรมดาแบบเราเอื้อมไม่ถึง แต่ก็ยังมีกลุ่มแฟนๆ ที่ยังชอบติดตามดู Content ของเขาต่อ ด้วย Style การนำเสนอที่มีความเป็นเอกลักษณ์ คุณภาพการรีวิว และภาพลักษณ์ที่ดีสม่ำเสมอของตัวคุณบูมเอง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ติดตาม Channel กว่า 1.3 ล้านคน
- คุณซอฟ Softpomz นักรีวิว “ของเล่น” ขวัญใจเด็กๆ ใครจะไปรู้ว่า Content รีวิวของเล่นเด็กจะปังได้ขนาดนี้ การันตีด้วยจำนวนผู้ติดตาม Channel กว่า 3 ล้านคน ซึ่งเมื่อย้อนไปดูสถิติ Clip คลิปรีวิวของเล่นที่มียอดเข้าชมสูงสุด มีคนชมถึง 15 ล้านวิว! คาดว่าก็คงมาจากความชื่นชอบของเด็กๆ ที่สมัยนี้ก็เข้าถึงเทคโนโลยีกันเป็นเรื่องธรรมดา ลองไปถามเด็กๆ ลูกๆ หลานๆ ในบ้านดูก็ได้ว่าเค้าดูอะไร ติดตามนักรีวิวท่านไหน เผื่อเป็นไอเดีย
หลายคนที่สนใจอาชีพนักรีวิว อาจจะเพราะดูเป็นอาชีพที่สนุก มีอิสระ และได้ Privilege จากแบรนด์ อาทิ ได้รับสินค้าฟรี ได้ไปออกอีเวนท์เปิดตัวสินค้าใหม่ๆ ได้รับการจ้างให้รีวิว เป็นต้น แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าที่จะไปถึงจุดนั้นได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความอดทน และในระยะแรกเริ่มอาจจะจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการซื้อของ/ใช้บริการ เพื่อทำ Content รีวิวเองแบบไร้ Sponsor จ่ายให้ หรือที่เรียกกันว่า CR (Consumer Review)
คุณสมบัติเบื้องต้นของอาชีพ “นักรีวิว”
- ซื่อสัตย์ จริงใจ เปิดเผย – หากรับงานจ้างรีวิวมา ก็ต้องบอกให้ผู้ชมทราบ หรืออาจจะมีระบุไว้ในรายละเอียดคลิป นักรีวิวที่ดีควรตระหนักเรื่อง “อิทธิพลในการชี้นำผู้บริโภค” อยู่เสมอ หากว่ากันตามความเป็นจริง ที่ผู้คนมักจะเชื่อนักรีวิวก็เป็นเพราะรู้สึกว่าเชื่อใจได้ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งบารมีความน่าเชื่อถือเหล่านี้มักจะถูกสั่งสมมาตั้งแต่สมัยเริ่มต้นที่ยังไม่ได้มี Sponsor เข้า จ่ายเอง รีวิวเอง จึงทำให้คนสัมผัสได้ถึงความจริงใจ ดังนั้นแม้ว่าจะเริ่มมีฐานคนติดตาม มี Sponsor ก็อย่าทำลายบารมีที่สั่งสมด้วยการปิดบังความจริง
- มืออาชีพ ตรงต่อเวลา – เมื่อมีการนัดหมาย หรือเดดไลน์สำหรับการทำงานจากแบรนด์มา ก็ต้องรักษาความเป็นมืออาชีพทำทุกอย่างให้อยู่ในกรอบเวลาและเงื่อนไขที่ทางแบรนด์กำหนดมาให้ หากรู้ตัวว่าไม่สามารถทำให้ได้ก็ไม่ควรรับงานมาตั้งแต่ต้น เพราะนอกจากจะเสียเวลาลูกค้าแล้ว ยังทำให้เสีย Connection ดีๆ กับแบรนด์ และชื่อเสียงในวงการได้
- รักษาเอกลักษณ์ที่ดี และอัปเดตเทรนด์อยู่เสมอ – การสร้างตัวตนของนักรีวิวเป็นเรื่องสำคัญ อะไรที่ดี ที่มีคุณภาพก็ควรรักษาไว้ต่อไป ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าหากทำรีวิวประเภทใดประเภทหนึ่งแล้วต้องทำประเภทเดียวตลอดไป จะเห็นได้เลยว่านักรีวิวที่มีชื่อเสียงส่วนมากไม่ได้รีวิวสินค้าหรือบริการแค่ประเภทเดียว เพียงแต่อาจจะยังคงเนื้อหาหลัก หรือสไตล์การนำเสนอในรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้ติดตามดั้งเดิม เพื่อให้เกิดความหลากหลายของเนื้อหา
สามารถติดตามความรู้และคอร์สเรียนที่น่าสนใจจาก True Digital Academy ได้ทุกช่องทาง
Website – https://bit.ly/3e9QZPw
Facebook – https://bit.ly/391XSkF
LinkedIn – https://bit.ly/3p7x08V
Instagram – https://bit.ly/2LwX5Ra