เผย 5 จิตวิทยาเบื้องหลัง การออกแบบ UX/UI ของ Tinder

เผย 5 จิตวิทยาเบื้องหลัง การออกแบบ UX/UI ของ Tinder

Business

3 นาที

29 ก.พ. 2024

แชร์

ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้เพียงแค่ใช้ความรู้ทางเทคโนโลยี ธุรกิจ หรือการออกแบบแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น การใช้หลักจิตวิทยาในการออกแบบผลิตภัณฑ์ก็มีส่วนสำคัญในการออกแบบ UX/UI ที่ตรงกับความต้องการกระตุ้นการตอบสนอง และครองใจผู้ใช้งานได้

ตัวอย่างเช่นแอป “Tinder” แอปหาคู่ยอดฮิตในปัจจุบัน วันนี้ DIGIUNLOCK จะพามาดูวิธีการออกแบบ UX/UI ที่ Tinder ใช้พื้นฐานจากหลักจิตวิทยาที่น่าสนใจ ไปดูกันเลย!

 


5 หลักจิตวิทยาเบื้องหลังการออกแบบ UX/UI ของ Tinder


1. เรียบง่าย ไม่ต้องคิดเยอะ ตาม “Law of Pragnanz”

คือหลักจิตวิทยาที่กล่าวว่าตาของมนุษย์มักจะมองหาความเรียบง่าย บนโครงสร้างที่ซับซ้อน เพราะมนุษย์ไม่ชอบความยุ่งยาก เมื่อวิเคราะห์จาก UX/UI ของ Tinder จะพบการออกแบบที่มุ่งเน้นไปที่ความเรียบง่ายในการใช้งาน หน้าจอหลักของแอปแสดงรูปภาพโปรไฟล์ของผู้ใช้ขนาดใหญ่เพียงรูปเดียวพร้อมกับข้อมูลพื้นฐานบางอย่าง เช่น ชื่อ อายุ และระยะทาง การออกแบบที่เรียบง่ายนี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วว่าสนใจเริ่มต้นบทสนทนากับคน ๆ นั้นหรือไม่

ที่มารูป: Tinder New Features — A UX/UI case study | by Diego Carbayo Escudero | Medium


2. ไม่ให้ผู้ใช้ต้องรอ ใช้กฎ “Doherty Threshold”

แม้ว่าโดยทั่วไปมนุษย์เราแทบจะแยกเวลาที่ต่ำกว่า 1 วินาทีไม่ค่อยออก แต่ในความเป็นจริงบริษัทผู้พัฒนาแอปฯ ต่างแข่งขันกันทำให้ผลิตภัณฑ์เร็วขึ้นในระดับมิลลิวินาที! แต่มีการวิจัยพบว่าประสิทธิภาพการทำงานจะเพิ่มขึ้นเมื่อคอมพิวเตอร์และผู้ใช้มีปฏิกิริยาโต้ตอบ น้อยกว่า 400 มิลลิวินาที Tinder ใช้ระบบการปัดซ้าย/ขวาเพื่อให้ผู้ใช้ตัดสินใจว่าพวกเขาสนใจผู้ใช้คนอื่นหรือไม่ ซึ่งการท่าทาง (Gesture) นี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้เวลามากเกินไปในการอ่านข้อมูลโปรไฟล์ และยังเห็นการตอบสนองของแอปกลับมาทันทีอย่างรวดเร็วไม่ต้องรอ หากปัดซ้ายก็เห็นเลยว่าถูกคัดออกต่อหน้าต่อตา! นอกจากนี้ให้ความรู้สึกดีที่สามารถควบคุมอะไรบางอย่างได้ด้วย

ที่มารูป: Tinder Swipe interaction | Figma Community


3. รอให้ตอบ แชทไม่เงียบ ตามทฤษฎี “The Zeigarnik Effect”

ทฤษฎีนี้ระบุว่ามนุษย์มีแนวโน้มว่าจะจดจำสิ่งที่ตนเองเคยทำค้างคาไว้ ได้ดีกว่าสิ่งที่ทำสำเร็จไปแล้วอย่างลุล่วง ภายในหน้าแชท ของ Tinder เล่นกับจิตวิทยาของมนุษย์ โดยการใส่คำว่า “Your Turn” เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกว่า มีสิ่งที่ต้องทำรออยู่ และต่อบทสนทนากับฝ่ายตรงข้ามไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงจุดที่รู้กันมากพอจะแลกช่องทางติดต่อ หรือนัดเจอกันในชีวิตจริง

ที่มารูป: How does Your Turn work? : r/Tinder


4. อยากไปถึงเส้นชัย ใส่โปรไฟล์ให้สมบูรณ์ “The Endowed Progress Effect”

เป็นหลักจิตวิทยาที่กล่าวว่าเมื่อมนุษย์รู้สึกว่าสิ่งที่ทำไปใกล้ถึงเป้าหมายมากขึ้น ความต้องการที่จะทำให้สำเร็จก็จะมากยิ่งขึ้น Tinder เล่นกับหลักการนี้ โดยนำมาใช้กับส่วนโปรไฟล์ มีการแสดงหลอดความคืบหน้า (Progress Bar) เพื่อให้ผู้ใช้กรอกโปรไฟล์ต่อให้สมบูรณ์ ใส่รูปหลาย ๆ รูป เขียนประวัติให้ครบ ซึ่งจะยิ่งส่งผลดีกับภาพรวมการใช้งานในแอป

ที่มารูป: Unraveling the Psychology Behind Tinder’s UI UX Design: A Deep Dive into 5 Key Principles | by Else_ux


5. โดดเด้ง กระแทกตา ด้วย Super Like ตามทฤษฎี “The Von Restorff Effect”

ทฤษฎีนี้ว่าด้วยเรื่องการจดจำของมนุษย์ โดยกล่าวว่ามนุษย์จะจดจำสิ่งของที่แตกต่างจากอันอื่นได้เป็นอย่างดี Tinder มีฟีเจอร์ไฮไลท์อย่าง “Super Like” ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถกดไลก์แบบพิเศษให้กับผู้ใช้คนอื่นที่สนใจมากๆ ได้ โดยฝั่งผู้ใช้ที่ได้รับ “Super Like” จะได้รับการแจ้งเตือนในรูปแบบที่พิเศษ แตกต่าง สิ่งนี้ช่วยให้ผู้ใช้คนที่กด Super Like โดดเด่นจากผู้ใช้คนอื่นและเพิ่มโอกาสในการ “Match” ได้

ที่มารูป: This Tinder update changes EVERYTHING | cosmopolitan

หลักจิตวิทยาและหลักการการออกแบบ UX/UI เป็นของคู่กัน เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ในครั้งต่อไปที่เราใช้แอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ลองสังเกต และวิเคราะห์ดูว่ามีการใช้หลักจิตวิทยาอะไรบ้าง เพราะการออกแบบไม่ใช่แค่เรื่องของการดูดีเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างประสบการณ์ที่น่าดึงดูด ใช้งานง่าย และอยากใช้ซ้ำบ่อยๆ ด้วยการทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ จะทำให้เราได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์

Source: medium.com

————————————————-
16 – 17 มี.ค. 2567 นี้ มาเรียนรู้ทักษะการใช้โปรแกรม Figma ได้ในเวิร์คชอป “DIY: User Interface With ‘Figma’” รุ่นที่ 3 เรียนแนวคิดพื้นฐานของการออกแบบที่ดีให้กับผู้ใช้ และเข้าใจวิธีการทำงานเบื้องต้นของ UI Designer เหมาะสำหรับคนที่อยากย้ายสายการทำงานหรือต้องไปทำงานกับนักออกแบบในทีม มาร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกันและปลดล็อคพลังของการออกแบบ UI เพื่อช่วยแก้ปัญหาของผู้ใช้จริงหรือสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจ

👉 ดูรายละเอียด และสมัครเรียนได้ ที่นี่ : https://bit.ly/49uoF7B
————————————————-