เรียนรู้ Product Life Cycle ผ่านปรากฎการณ์ไวรัล ‘น้องหมีเนย’ ของแบรนด์ Butterbear
เรียนรู้ Product Life Cycle ผ่านปรากฎการณ์ไวรัล ‘น้องหมีเนย’ ของแบรนด์ Butterbear
Business
3 นาที
09 ก.ค. 2024
แชร์
Table of contents
ถ้าชีวิตของเรามี ‘เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย’ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็มีวงจรชีวิตของมันเช่นกัน! นั่นก็คือ จะมีช่วงเวลาที่ได้อยู่เข้าสู่ตลาด และในที่สุดก็จะต้องออกไปจากชั้นวาง
คำถามสำคัญสำหรับคนทำงาน Product Manager (PM) หรือผู้จัดการผลิตภัณฑ์ คงจะเป็นประเด็นที่ว่า แล้วจะทำยังไงล่ะ ให้วงจรของผลิตภัณฑ์ของเรา หรือ ‘Product Life Cycle’ นั้นอยู่ยืนยาว คุ้มค่า และส่งผลดีกับธุรกิจเรามากที่สุด?
PM และทุกคนที่ต้องทำงานกับแบรนด์และการออกผลิตภัณฑ์ จึงควรทำความเข้าใจเรื่องวงจรชีวิตของผลัตภัณฑ์ หรือ Product Life Cycle กันให้มากขึ้น และรู้จักกับวิธีการจัดการ หรือ Product Life Cycle Management (PLM) ให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการการ
ขั้นตอนของ Product Life Cycle Management
1.พัฒนา
ก่อนจะเริ่มขั้นตอนการผลิตผลิตภัณฑ์ การคิดออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีจะถือเป็นราฐานสำคัญสำหรับขั้นตอนต่อ ๆ ไป โดยจะต้องระดมความคิดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ดี ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ จากนั้นจึงวิเคราะห์ทางการตลาด และนำมาออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้นจริง รวมถึงนำมาทดสอบว่าผลิตภัณฑ์นั้นออกมาได้ตามที่ต้องการ และพร้อมที่จะออกสู่ตลาดได้
2.เปิดตัว
เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เพราะจะเป็นตัวตัดสินว่าจุดต่อไปของผลิตภัณฑ์จะเป็นอย่างไรต่อไป จึงจะต้องอาศัยการวิจัยทางการตลาดที่รอบคอบ เพื่อให้สามารถคาดการณ์ถึงผลตอบรับจากลูกค้าได้ และแน่ใจได้ว่าวิธีที่เลือกใช้จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยอาจใช้โปรแกรมส่งเสริมการขาย
ในขั้นตอนนี้ผลิตภัณฑ์จะต้องพร้อมวางขายแล้ว ซึ่ง PLM จะมีบทบาทไปจนถึงการติดตามคำสั่งซื้อ การขาย จัดการกับผลตอบรับจากลูกค้า และพัฒนาวิธีการได้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
3.เติบโต
ในขั้นตอนนี้จะมุ่งเน้นไปที่การขยายตลาด เพื่อให้มีรายได้และผลกำไรสูงขึ้นโดยอาจเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ไปจนถึงการวิจัยพัฒนา ออกแบบ ทำการตลาด ส่งเสริมการขาย และเพิ่มการบริการที่เกี่ยวข้อง
4.อิ่มตัว
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผลิตภัณฑ์หนึ่งก็จะถึงจุดที่โตเต็มที่และอิ่มตัว เป็นสัญญาณว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะไม่ได้รับการพัฒนาต่อ โดยไม่มีการวิจัยหรือทำการตลาดใด ๆ เพิ่มเติม และอาจมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ใหม่กว่าที่บริษัทเพิ่งพัฒนาและจะเข้ามาสู่ตลาดแทน อย่างไรก็ดี PLM จะยังคงมีบทบาทอยู่ในการรักษาสถานะนี้ของผลิตภัณฑ์ และรวบรวมผลตอบรับทั้งด้านบวกและด้านลบจากลูกค้าเพื่อนำไปปรับปรุงต่อไป
5.ถดถอย
เมื่อเลยจุดอิ่มตัวมาแล้ว สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือยอดขายและผลกำไรของผลิตภัณฑ์ที่จะลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเป็นจุดสิ้นสุดของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์นี้แล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการลดการผลิตลงเรื่อย ๆ หรือวางตำแหน่งใหม่ (Repositioning) ในตลาดให้กับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เราขอยกตัวอย่างหนึ่งในสิ่งที่เป็นกระแสมากที่สุดในตอนนี้ อย่างมาสคอต ‘น้องหมีเนย’ หรือ ‘Butterbear’ มาสคอตหมีสีน้ำตาลสุดน่ารักและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของร้านขนมที่มีชื่อเดียวกัน ที่ทุกคนคงเห็นตรงกันว่าเป็นตัวอย่างการใช้มาสคอตที่ประสบความสำเร็จมาก จนมีคนพูดถึงมากถึง 13.5 ล้านครั้ง! ผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ โดยเฉพาะ TikTok และ X (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1-12 มิถุนายน 2567)
ถ้าอยากประสบความสำเร็จแบบน้องหมีเนย เราควรนำมาสคอตมาใช้กับผลิตภัณฑ์ของเราบ้างดีไหมนะ?
ก่อนจะตัดสินใจ ลองมาถอดบทเรียนการนำมาสคอตมาใช้ในสเตจของ PLC ผ่าน ‘น้องหมีเนย’ กัน!
‘เปิดตัว’ เป็นขั้นตอนสำคัญในการดึงดูดความสนใจและทำให้คนจดจำผลิตภัณฑ์ของเราได้ มาสคอตจึงจะเป็นตัวช่วยที่จะสะท้อนเอกลักษณ์และคุณค่าของผลิตภัณฑ์ โดยถ้าผ่านการออกแบบมาอย่างดี ก็จะสร้างความผูกพันกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงช่วยให้เราโดดเด่นมากกว่าแบรนด์อื่น ๆ ได้ อย่างน้องหมีเนยที่มีหน้าตาน่ารัก แสดงออกอย่างน่าเอ็นดู และเต้นเบากว่ามาสคอตทั่วไป ทำให้แตกต่างจากมาสคอตอื่น และยังเหมาะกับแบรนด์ที่ขายของหวาน
‘เติบโต’ ถ้ามาสคอตนั้นทำหน้าที่ได้อย่างสม่ำเสมอโดยการทำให้ผู้คนมาพบเห็นมากขึ้น ก็จะช่วยให้คนรู้จัก คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ของเราได้ และยังทำให้ผลิตภัณฑ์ดูมีชีวิตชีวา มีภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรจนติดใจกลุ่มเป้าหมาย อย่างน้องหมีเนยที่แม้จะติดกระแสแล้ว แต่ยังขยันออกงานมาพบปะแฟนคลับเพื่อให้คนได้รู้จักเพิ่มขึ้น เพิ่มคอนเทนต์ทางโซเชียลมีเดียให้คนติดตามจนเป็นแฟนคลับน้องหมีเนยเพิ่ม
‘อิ่มตัว’ แม้วันหนึ่งผลิตภัณฑ์จะไปถึงจุดสูงสุดแล้ว แต่การมีมาสคอตก็อาจช่วยรักษาสถานะนี้ให้ยังคงสม่ำเสมอต่อไปได้โดยยังไม่ไปถึงจุดตกต่ำลง เพราะมาสคอตจะช่วยสร้างความผูกพันกับฐานลูกค้า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการกลับมาซื้อซ้ำ นอกจากนั้น หากผลิตภัณฑ์จะต้องพัฒนาอะไรเพิ่มเติม มาสคอตก็สามารถพัฒนาตามได้เช่นกันเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างน้องหมีเนยที่แม้จะเริ่มเป็นกระแสมาสักพักแล้ว แต่ช่วงหลังก็เริ่มมีการแต่งตัวให้น้องต่างไปในแต่ละวันให้เหมาะกับเทรนด์ในช่วงนั้น ๆ จนยังมีสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกว้าวอยู่ในทุกวัน
แม้ว่าการทำความเข้าใจ Product Life Cycle จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้จริง แต่ก็อาจมีข้อจำกัดที่ว่า ทุกอย่างอาจไม่เป็นไปตามทฤษฎีเสมอไป และต้องคำนึงถึงความเป็นจริงว่า Product Life Cycle ของผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทอาจมีความแตกต่างกัน เช่น เราจะเห็นได้ว่ามีสินค้าบางอย่างที่แม้จะเปิดตัวมานานแล้ว ก็ยังคงมีที่ยืนในตลาดสม่ำเสมอและยังไม่เห็นแนวโน้มที่จะเข้าสู่ช่วงตกต่ำลง เช่น เครื่องดื่มยอดนิยมบางยี่ห้อ ที่ยังคงครองใจคนได้ในระยะยาว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าถอดบทเรียนต่อไปว่าควรทำอย่างไรให้คนจดจำและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของเราได้ในระยะยาว