เตรียมเว็บไซต์ธุรกิจรับ 'กฎหมาย PDPA' และวิธีจัดการกับการหลุดรั่วของข้อมูลส่วนบุคคล
เตรียมเว็บไซต์ธุรกิจรับ 'กฎหมาย PDPA' และวิธีจัดการกับการหลุดรั่วของข้อมูลส่วนบุคคล
Business
3 นาที
30 พ.ค. 2022
แชร์
Table of contents
หลายคนน่าจะรู้กันดีกว่าเวลาทำธุรกิจ การมีข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลบริษัทของลูกค้าอยู่ในมือเรานั้นให้ประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยให้ทราบ Persona และ Insight ของลูกค้า นำมาใช้ต่อยอดวางกลยุทธ์ธุรกิจ และยังช่วยในแง่การทำ CRM (Customer Relationship Management) อาทิ เช่น โทรติดต่อไปสอบถามความต้องการสินค้า หรือส่งอีเมลไปเสนอโปรโมชันต่างๆ ทว่ายุคนี้การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ จำเป็นต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน
โดยหนึ่งในข้อกฎหมายที่ต้องรู้ในยุคปัจจุบัน คือเรื่อง PDPA (Personal Data Protection Act) หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ “ห้ามเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูล” เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว โดยมีแม่แบบกฎหมายมาจากกฎหมายคุ้มครองข้อมูลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรป ที่เรียกว่า GDPR (General Data Protection Regular) โดยในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้จะมีมีผลบังคับใช้ PDPA กันแล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการทั้งหลายจึงต้องมีการเตรียมความพร้อม เพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมาย เมื่อบังคับใช้จริงก็จะมีผลกับธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น หากเราเปิดธุรกิจขายสินค้า และมีเว็บไซต์สำหรับขายบนช่องทางออนไลน์ด้วย ณ จุดนี้เองที่เริ่มจะต้องระมัดระวังในเรื่อง “การเก็บข้อมูลลูกค้า”
วันนี้เราจะมาบอกแนวทางป้องกันและรับมือกับการหลุดรั่วของข้อมูลส่วนบุคคล สำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่ทุกท่าน ตั้งแต่แรกเริ่มลูกค้าเข้าเว็บไซต์มา สิ่งที่ต้องมีบนเว็บไซต์ ได้แก่
- Privacy Policy หากธุรกิจมีการเก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การเก็บชื่ออีเมลและเบอร์โทร เพื่อใช้นำเสนอสินค้าและบริการ เพื่อแจ้งเจ้าของข้อมูลว่าเราจะนำข้อมูลที่เก็บไว้ไปใช้งานอย่างไรบ้าง
- Cookie Consent Banner แบนเนอร์เตือนเพื่อแจ้งให้เจ้าของข้อมูลรับรู้และให้ความยินยอมในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากเว็บไซต์มักจะมีการติดตั้งคุ้กกี้จดจำข้อมูลผู้ใช้บนหน้าเว็บ เช่น เมื่อคุณเข้าเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ แล้วปิดเว็บไซต์ไป เมื่อเปิดใช้งานอีกครั้ง ระบบยังจดจำสินค้าที่คุณเลือกเอาไว้อยู่ หรือบทความที่อ่านไปแล้ว ทำให้สะดวกต่อผู้ใช้งาน ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายเว็บไซต์ทั้งไทยและต่างประเทศก็เริ่มทยอยติดแบนเนอร์นี้กันแล้วเพื่อสอดรับกับ PDPA
- แบบฟอร์มการขอใช้สิทธิตามหลัก PDPA เพื่อทำให้การเก็บข้อมูลถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมายที่สุด คือการมีฟอร์มขอใช้ข้อมูลตามหลัก PDPA ซึ่งเจ้าของข้อมูลจะมีสิทธิในการจัดการข้อมูลตัวเอง ตั้งแต่การขอลบ แก้ไข โอน ตลอดจนการอัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลใดก็ตามที่มีการเก็บเอาไว้ โดยผู้ประกอบการ ต้องตอบสนองคำขอทันทีภายในเวลา 30 วันหลังจากได้รับคำขอด้วย
แล้วถ้าข้อมูลที่เก็บมาเกิดหลุดล่ะ!? จะรับมืออย่างไรดี…
แม้จะมีการป้องกันเป็นอย่างดีแล้ว บางครั้งการหลุดรั่วของข้อมูลส่วนบุคคลก็อาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด อีกหนึ่งหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ถือข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไว้ คือต้องเตรียมพร้อมสำหรับ “การแก้ไข” จากเหตุการณ์หลุดรั่วของข้อมูลส่วนบุคคลด้วย
โดยการแก้ไขปัญหา อันดับแรกผู้ประกอบการต้องรีบจะต้องดำเนินการแจ้งเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแก่ทุกบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งวิธีการรับมือเป็น 3 กรณี ตามระดับความเสี่ยงน้อยไปมาก ดังนี้
1. กรณีที่ไม่มีความเสี่ยงต่อสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องทำการบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการอ้างอิง
2. กรณีเกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และมีความเสี่ยงต่อสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล แจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ภายใน 72 ชั่วโมง นับตั้งแต่ทราบเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
3. กรณีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลมีความเสี่ยงสูงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากจะต้องแจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุการณ์ละเมิดดังกล่าว ให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบ พร้อมกับแนวทางการเยียวยาโดยทันที
จะเห็นได้ว่าการถือข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าในมือสำหรับผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการแชร์ข้อมูลใดๆ โดยเฉพาะกับบุคคลอื่นภายนอกบริษัท หรือนำข้อมูลของลูกค้ามาใช้ โดยมิได้รับความยินยอมก่อน รวมถึงต้องวางแผนแนวทางการปกป้องและรับมือกับการหลุดรั่วของข้อมูลลูกค้าอีกด้วย จึงจะถือได้ว่าเป็นผู้ประกอบยุคดิจิทัลที่รู้เท่าทันและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริง
Source 1 2
————————————————
ติดตาม True Digital Academy ทางช่องทางเหล่านี้ เพื่ออัปเดตข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโลกวงการดิจิทัล และคอร์สเรียนน่าสนใจได้ทาง
Website – https://bit.ly/3e9QZPw
Facebook – https://bit.ly/391XSkF
LinkedIn – https://bit.ly/3p7x08V
Instagram – https://bit.ly/2LwX5Ra