'Know Your Work Personality' เช็คสไตล์การทำงานจากแบบทดสอบบุคลิก

'Know Your Work Personality' เช็คสไตล์การทำงานจากแบบทดสอบบุคลิก

Business

4 นาที

19 พ.ย. 2021

แชร์

เพื่อนๆ เคยทำ แบบทดสอบ MBTI กันหรือเปล่า? นอกจาก MBTI จะบอกบุคลิกลักษณะนิสัยทั่วๆ ไปได้แล้ว เรายังสามารถนำ MBTI มาใช้วิเคราะห์สไตล์การทำงานของเรา เพื่อให้รู้จักลักษณะการทำงานที่ใช่ของตัวเองและการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ในทีม รวมถึงเป็นแนวทางพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จอย่างเหมาะสมได้

สำหรับใครที่ยังไม่เคยลองทดสอบบุคลิกภาพ ในเบื้องต้นสามารถหาแบบทดสอบ MBTI ได้จาก Internet โดยเว็บไซต์นี้ที่คนนิยมที่สุด คือ www.16personalities.com หรือ หากใครไม่มีเวลาเล่น สามารถให้เพื่อนร่วมงานเป็นคนประเมินก็ได้ (สาเหตุที่ควรเป็นเพื่อนร่วมงานมากกว่าเพื่อนทั่วไป เพราะบางคนนิสัยเวลาทำงาน กับนิสัยนอกเวลาทำงานต่างกัน)

โดยผลการทดสอบจะประกอบไปด้วย 4 ตัวอักษร แต่ละตัวอักษรจะมีลักษณะบุคลิก 2 ด้าน ดังนั้นทั้งหมด MBTI ที่เป็นไปได้ จึงมี 16 ลักษณะบุคลิก สามารถอธิบายลักษณะของแต่ละตัว ได้ดังนี้

ลักษณะแบบ I (Introvert) หรือ E (Extrovert)

Introvert – ชอบคิด รู้สึก และอยู่กับตัวเอง สบายใจที่ได้อยู่ตามลำพัง อาจชอบงานสังคมหรือไม่ชอบก็ได้ ชอบอยู่กับกลุ่มเพื่อนสนิท และชาร์จพลังเมื่อได้อยู่กับตนเอง
Extrovert – ชอบอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คน ออกไปทางกล้าแสดงออก พูดคุยได้กับทุกคน ออกงานพบปะสังสรรค์และชาร์ตพลังเมื่อได้เจอหรือสัมผัสผู้คน 

ลักษณะแบบ S (Sensing) หรือ N (iNtuition)

Sensing – รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 การที่มีความคิด และ อยู่กับปัจจุบันและความเป็นจริง ไม่ล่องลอยไปในอุดมคติ
iNtuition – ใช้สัญชาตญาณ ใช้ความรู้สึก หรือ ข้อมูลกลั่นออกมาเป็นสิ่งที่คาดเดา หรือ มีความคิดสร้างสรรค์ จนอาจล่องลอยในโลกจิตนาการ

ลักษณะแบบ F (Feeling) หรือ T (Thinking)

Feeling – ใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจ เข้าอกเข้าใจความรู้สึกคนอื่น เน้นความสมานฉันท์
Thinking –  ใช้ตรรกะความคิด เหตุผลมาก่อน จนบางครั้งอาจทำให้ผู้อื่นเสียใจ

ลักษณะแบบ J (Judging) หรือ P (Perceiving)

Judging – ทำอะไรมีการวางแผน จัดระเบียบความคิด เดินตามแผนที่วางไว้และ รวดเร็วในการทำงาน มีความคิดตนเองชัดเจนไม่โอนอ่อน
Perceiving – ไม่ยึดติดกับแบบแผน ยืดหยุ่นทางความคิดนี้ ประนีประนอม พร้อมให้โอกาสผู้อื่นไม่ด่วนตัดสิน


MBTI กับสไตล์การทำงาน

มาถึงหัวข้อสำคัญในวันนี้ว่า แต่ละบุคลิกมีลักษณะการทำงานแบบไหน? จริงๆ แล้วการรู้ MBTI สามารถนำไปต่อยอดค้นหาและวิเคราะห์ตัวตนและลักษณะการทำงานได้มากมาย วันนี้เราจะขอยกตัวอย่างที่มีการวิเคราะห์ไว้ได้อย่างน่าสนใจบางส่วนมาให้ได้อ่านกัน (อ้างอิงจาก Blog ของอดีต Consultant ในบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชื่อดังอย่าง McKinsey)

“คนที่เป็น I” VS “คนที่เป็น E”
ในแง่การทำงาน เวลาประชุมคนแบบ Introvert จะใช้สมาธิไปกับการตั้งใจฟังและคิดใคร่ครวญมากกว่าการยกมือแสดงความคิดเห็น ถ้าจะให้คนแบบ Introvert ออกความคิดเห็นในที่ประชุมอาจจะต้องใช้เวลาคิดก่อนแสดงความคิดเห็นใดๆ ออกไป เวลาทำงานคนแบบ Introvert จะโฟกัสกับงานที่ทำและจดจ่ออยู่ในโลกส่วนตัวของตัวเอง ถ้าไม่มีใครมาชวนคุยก็จะหันไปคุยกับคนอื่นไม่บ่อย แต่ถ้าเพื่อนร่วมงานชวนคุยเรื่องที่เขาชอบและสนใจ คนแบบ Introvert ก็จะพูดเยอะขึ้นมาได้เหมือนกัน ขณะที่คนแบบ Extrovert มักจะยกมือถามคำถามหรือแสดงความคิดเห็นได้เร็ว ไม่ค่อยกังวลหรือคิดเยอะ มักเป็นคนสร้างความสนุกสนานเฮฮา ยิงมุกตลกให้เพื่อนหัวเราะได้ทั้งวัน บุคลิกภายนอกดูมีความเป็นผู้นำสูงและมีพลังงานเยอะ ชอบนั่งทำงานเป็นกลุ่มมากกว่านั่งทำงานเพียงลำพัง

“คนที่เป็น S” VS “คนที่เป็น N”
มีการวิเคราะห์ว่าคนที่เป็น N (iNtuition) มักจะคิดเชิงกลยุทธ์ในภาพใหญ่ องค์รวม ได้ดีกว่าคนที่เป็น S (Sensing) ซึ่งเขาบอกว่าถือเป็นข้อได้เปรียบของคนที่เป็น N เมื่อต้องทำงานในองค์กรที่มีลักษณะการทำงานแบบ Top down (รับคำสั่งจากบนลงล่าง) ทำงานเชิงกลยุทธ์ นอกจากนี้ N ยังถือว่าเป็นคนคนที่ความจำดี คิดนอกกรอบ ทำการสรุปผลโดยอาศัยข้อมูลจำนวนมาก ทว่าข้อเสียของคนที่เป็น N จัดๆ คือ “ขาดความละเอียดอ่อน มักมองข้ามดีเทลไป” ในขณะที่คนที่เป็น S มักมีลักษณะในทางตรงกันข้าม คนที่ทำงานด้วยมักจะคิดว่าเป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียด ดังนั้นจึงมักได้รับมอบหมายหน้าที่ให้จัดการ และรับผิดชอบงานที่ต้องการความละเอียด ความถูกต้อง เป๊ะๆ ทว่าข้อเสียก็คือมักจะลืมมองในภาพใหญ่ไป

“คนที่เป็น T” VS “คนที่เป็น F”
เนื่องจากองค์กร McKinsey เป็นบริษัทให้คำปรึกษาธุรกิจ ดังนั้นจึงเน้นการคิดเชิงตรรกะ เป็นเหตุเป็นผล มีที่มา เพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้า ดังนั้นคนในองค์กรที่มีลักษณะเป็น T(Thinking) จึงมักจะเชื่อคนที่เป็น T เหมือนกันมากกว่า ทว่าข้อเสียของการมี T รวมอยู่กันเยอะๆ คือมักจะจะเป็นพวกไม่ถนอมจิตใจ งานเป็นงาน ตรงไปตรงมาก ดังนั้นการมี F(Feeling) อยู่อย่างน้อยสัก 1 คนในทีมจะช่วยในเรื่องความสมานฉันท์ได้ดี โดยเฉพาะการทำงานที่ต้องพบปะกับลูกค้า คนที่เป็น F นี่สังเกตได้เลยว่าก่อน Meeting มักจะชวนคุยเรื่องต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับงานก่อน ซึ่งเขาถามแบบอยากรู้จริงๆ ไม่ใช่ถามเป็นมารยาทด้วย เพื่อสร้างบรรยากาศ รักษาสัมพันธ์กับคนรอบตัว

“คนที่เป็น J” VS “คนที่เป็น P”
คนที่เป็น J (Judging) มักจะเป็นคนที่มีระเบียบการจัดการวางแผนดีกว่า ทั้งในแง่ชีวิตส่วนตัว และการทำงาน โต๊ะมักจะสะอาดเรียบร้อย ทุกอย่างเก็บไว้ค่อนข้างเป็นระเบียบ ซึ่งเขาบอกว่า J มักจะถูกมองว่าเหนือว่า P (Perceiving) เมื่อพูดถึงแง่ของการคิดแก้ปัญหาอย่างมีระเบียบแบบแผน จึงมักได้รับความไว้วางใจให้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน ในขณะที่ P ต้องขออภัยไว้ก่อน เพราะจากบทความเขาบอกว่าทีมของเขาที่ McKinsy ยังมองหาข้อดีของการเป็น P ไม่ได้ (แรงจัง) เขาบอกว่าข้อดีที่ P จะได้รับคือไม่ถูกสั่งให้จองร้านอาหาร โทรสั่งมื้อกลางวัน หรือจัดงานปาร์ตี้ใดๆ อาจจะฟังดูใจร้ายไปนิด ผู้เขียนเลยพยายามไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมา พบว่าจริงๆแล้ว P ก็มีข้อดีในแง่ของการปรับตัว เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆได้ง่ายกว่า J ซึ่งอาจจะดีสำหรับยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างมักมีการเปลี่ยนเร็ว P อาจจะไม่ใช่คนที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุด แต่อาจจะเป็นคนที่ปรับตัวอยู่กับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วที่สุดก็เป็นได้

Source : 1 2 3
————————————————-
สามารถติดตามความรู้และคอร์สเรียนที่น่าสนใจจาก True Digital Academy ได้ทุกช่องทาง
Website – https://bit.ly/3e9QZPw 
Facebook – https://bit.ly/391XSkF
LinkedIn – https://bit.ly/3p7x08V 
Instagram – https://bit.ly/2LwX5Ra

แชร์