สร้างโมเมนตัมพาทีมไปต่อไม่หยุดด้วย 'Flywheel Effect'
สร้างโมเมนตัมพาทีมไปต่อไม่หยุดด้วย 'Flywheel Effect'
Business
5 นาที
04 มี.ค. 2025
แชร์
Table of contents
ในวันที่คุณได้ฝึกปั่นจักรยานครั้งแรก หรือถีบล้อรถสักคัน คุณคงจำได้ว่าความรู้สึกแรกของการออกแรงนั้นต้องใช้แรงมากแค่ไหน และก็คงจำได้ว่าถ้าเริ่มปั่นแล้วมันก็จะค่อย ๆ ไปต่อได้ง่ายมากขึ้น
นี่คือแนวคิดเดียวกับ Flywheel Effect หลักการสร้างโมเมนตัมในองค์กรซึ่งถูกพูดถึงครั้งแรกโดย Jim Collins ในหนังสือ Good to Great โดยเปรียบเทียบองค์กรที่ยอดเยี่ยมกับ ล้อฟลายวีล (Flywheel) ซึ่งในช่วงแรกต้องใช้แรงผลักดันอย่างมาก แต่เมื่อเริ่มหมุนแล้ว แรงเฉื่อยและโมเมนตัมที่สะสมไว้จะช่วยให้ล้อหมุนไปเอง
แต่การทำให้ Flywheel หมุนต่อไปได้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเอง สิ่งสำคัญคือการมีปัจจัยที่ช่วยเสริมพลังให้มันเดินหน้าอย่างมั่นคง ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ช่วยสร้างโมเมนตัมในองค์กรของคุณ
6 ปัจจัยสำคัญสู่การสร้าง Flywheel Effect
Flywheel Effect ไม่ใช่แค่การหมุนล้อให้เคลื่อนที่ แต่ยังต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างเพื่อสร้าง โมเมนตัม (Momentum) และผลลัพธ์ที่ทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งประกอบด้วย 6 ส่วนสำคัญ คือ
1. โมเมนตัม (Momentum)
กฎข้อแรกของนิวตันข้อหนึ่งได้อธิบายว่า “วัตถุจะคงอยู่ในสภาพหยุดนิ่งหรือเคลื่อนที่ในแนวเส้นตรงด้วยความเร็วคงที่ จนกว่าจะมีแรงภายนอกมากระทำ – on demand” ธุรกิจก็เช่นกัน ที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในช่วงแรก แต่เมื่อโมเมนตัมเกิดขึ้นแล้ว มันก็จะเติบโตต่อไปโดยอัตโนมัติ
2. วงจรฟีดแบ็ก (Feedback Loops)
ยิ่งล้อหมุนได้เร็วเท่าไหร่ การเพิ่มความเร็วก็จะง่ายขึ้นเท่านั้น ยิ่งความเร็วที่เพิ่มขึ้นก็จสร้างพลังงานสะสมได้มากขึ้น เมื่อเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ทีมงานและผู้เกี่ยวข้องก็จะรู้สึกตื่นเต้น และพร้อมทุ่มเทมากขึ้นให้กับงานตรงหน้า
3. การเร่งปฏิกิริยาโดยตัวมันเอง (Auto-Catalysis)
แนวคิดนี้หมายถึง “ปฏิกิริยาฟีดแบ็กที่เร่งตัวเอง” ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่ ผลลัพธ์ของกระบวนการกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดผลลัพธ์มากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง เมื่อล้อหมุนเร็วขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้เกิดแรงผลักที่เร่งให้วงจรเดินหน้าต่อไป โดยไม่ต้องใส่พลังงานเพิ่มขึ้นมากนัก
4. ผลตอบแทนจากความพยายามที่มากขึ้น (Compounding Return on Effort)
ไม่มีแรงผลักเดียวที่ทำให้ล้อหมุนเร็วได้ในทันที แต่มันเกิดจากการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สะสมกันไปเรื่อย ๆ เหมือนคนที่เก็บต้นทุนตอนแรกไว้ดี ทบต้นมาเรื่อย ๆ เกิดเป็นผลลัพธ์ที่ทวีคูณขึ้น (Compounding Effect) ในตอนหลังนั่นเอง
5. ผลกระทบจากเครือข่าย (Network Effects)
Network Effects คือแนวคิดที่ว่า ยิ่งมีคนใช้ระบบมากเท่าไร มูลค่าของระบบก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งมักเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับ Flywheel Effect โดย Network Effects สามารถเร่ง Flywheel Effect ได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อถึงจุดพลิกผัน (Tipping Point)
6. ทิศทางที่ชัดเจน (Direction)
ความพยายามอย่างต่อเนื่องต้องมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน 5hkเปลี่ยนเป้าหมายบ่อยเกินไป จะทำให้พลังงานที่ใส่ไปสูญเปล่า โดย Jim Collins อธิบายแนวคิดนี้ไว้ใน Good to Great ว่า “เมื่อโมเมนตัมของ Flywheel เริ่มทำงาน มันจะหมุนเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จากรอบที่หนึ่งไปสู่รอบที่สอง พลังงานที่สะสมไว้จะช่วยผลักให้มันหมุนต่อไปโดยที่เราไม่ต้องออกแรงมากขึ้น แต่กลับหมุนเร็วขึ้นกว่าเดิมเป็นพัน ๆ เท่า”
นอกจากนี้ Jim Collins ยังอธิบายว่า Flywheel Effect นั้น ทำงานร่วมกับ ‘Hedgehog Concept’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ช่วยให้ธุรกิจรู้จักตัวเองและมุ่งเน้นไปที่จุดแข็งหลักขององค์กร
โดย Hedgehog Concept ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก:
✅ สิ่งที่คุณทำได้ดีที่สุดในโลก องค์กรต้องรู้ว่าตัวเองเก่งอะไรจริง ๆ
✅ สิ่งที่ขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจของคุณ ธุรกิจต้องรู้ว่าอะไรสร้างรายได้หลัก
✅ สิ่งที่คุณหลงใหล องค์กรต้องทำในสิ่งที่มีแพสชันและพนักงานให้ความสำคัญ
เมื่อทั้งสามปัจจัยนี้เชื่อมต่อกัน ธุรกิจจะสามารถสร้าง Flywheel Effect ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น!
ตัวอย่างจาก Amazon หนึ่งในบริษัทที่ใช้ Flywheel Effect ได้ดีที่สุด
หนึ่งในตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของ Flywheel Effect คือ Amazon ซึ่งเรียกแนวคิดนี้ว่า “Virtuous Cycle” หรือ “วงจรเชิงบวก”
Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon เคยร่างแนวคิดนี้ลงบนผ้าเช็ดปากไม่กี่ปีหลังจากก่อตั้งบริษัท จนถึงปัจจุบัน แนวคิดนี้ยังคงเป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์ที่ Amazon ใช้ เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าและขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ

การขับเคลื่อนของ Flywheel ของ Amazon เริ่มต้นที่ ‘ประสบการณ์ของลูกค้า (Customer Experience)’ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตของบริษัท
1️⃣ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า → ลูกค้าพอใจและกลับมาซื้อซ้ำ
2️⃣ ลูกค้าแนะนำต่อ (Word-of-Mouth & Organic Traffic) → ทำให้เว็บไซต์มีผู้เข้าชมเพิ่มขึ้น
3️⃣ จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น → สามารถขายสินค้าหลากหลายขึ้น
4️⃣ เปิดให้ผู้ขายรายอื่น (Third-party Sellers) เข้าร่วมบนแพลตฟอร์ม
5️⃣ ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกที่มากขึ้น → ประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น → Virtuous Cycle ดำเนินต่อไป
6️⃣ เมื่อธุรกิจเติบโต ต้นทุนต่อหน่วยลดลง
7️⃣ เงินที่ประหยัดได้สามารถนำไปลดราคาสินค้า ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น
8️⃣ วงจรนี้จะเร่งตัวเอง และช่วยให้ Amazon เติบโตเร็วขึ้นเรื่อย ๆ
Flywheel ของ Amazon มีองค์ประกอบหลัก 3 อย่างที่ช่วยเร่งการเติบโตของธุรกิจ นั่นก็คือ
- ตัวเลือกที่มากขึ้น ทำให้ลูกค้ามีสินค้ามากมายให้เลือก (Better Selection)
- ราคาที่ถูกลง + ต้นทุนต่ำลง ทำให้สามารถเสนอราคาที่ดีขึ้นให้ลูกค้า (Lower Prices)
- การขนส่งที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ (Exceptional Delivery Experience)
Flywheel Effect จะเกิดขึ้นจริงในองค์กรเราได้อย่างไร?
1. สร้างแรงผลักดันตั้งแต่เริ่ม และกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน
กำหนดเป้าหมายที่จับต้องได้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงาน พนักงานต้องรู้ว่าพวกเขามีบทบาทสำคัญต่อองค์กรอย่างไร
ตัวอย่าง: บริษัทที่มีวัฒนธรรม “ลูกค้ามาเป็นอันดับหนึ่ง” ต้องทำให้พนักงานเข้าใจว่า พวกเขาไม่ได้แค่ให้บริการ แต่ต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าด้วย
2. สร้างการมีส่วนร่วมผ่านการกระทำ ไม่ใช่แค่คำพูด
การมีส่วนร่วมของพนักงานต้องเริ่มจากผู้นำ ถ้าผู้นำองค์กรไม่แสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรมที่ดี พนักงานก็จะไม่รู้สึกผูกพัน ลงมือทำสิ่งเล็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น ให้ฟีดแบ็ก, สร้างพื้นที่ให้พนักงานมีเสียง และรับฟังความคิดเห็น
ตัวอย่าง: ผู้นำที่ดีไม่ใช่แค่พูดถึง “วัฒนธรรมองค์กรที่ดี” แต่ต้อง แสดงให้เห็นด้วยการปฏิบัติ เช่น การยอมรับความคิดเห็นของทีม
3. ใช้ข้อมูลและฟีดแบ็กให้เป็นประโยชน์
ใช้ Employee Engagement Survey หรือแบบสอบถามเพื่อวัดระดับความพึงพอใจของพนักงาน ติดตามผล และลงมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง อย่าให้พนักงานรู้สึกว่าให้ฟีดแบ็กไปแล้วก็ไม่มีใครฟัง ทุกอย่างเหมือนเดิม
ตัวอย่าง: ถ้าพนักงานให้ฟีดแบ็กว่าระบบการทำงานยุ่งยาก ผู้นำควร จัดเวิร์กช็อปเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน
4. สร้างความต่อเนื่อง อย่าหยุดแค่ก้าวแรก
การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวแล้วจบ องค์กรต้องลงทุนในความเป็นอยู่ของพนักงาน เช่น การพัฒนาอาชีพหรือสวัสดิการที่ดีขึ้น
ตัวอย่าง: บริษัทที่ให้พนักงานมีโอกาสเรียนรู้ และเติบโตผ่านคอร์สฝึกอบรมหรือโปรแกรมพัฒนาผู้นำ จะช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขามีอนาคตร่วมกับองค์กร
5. ให้รางวัลและยกย่องพนักงานที่มีส่วนร่วม
การให้รางวัล และให้การยอมรับ เป็นแรงผลักดันที่ดี ที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าความพยายามของพวกเขามีค่า หรือให้รางวัลเป็น โบนัส หรือการยกย่องในที่ประชุม หรือการให้โอกาสพัฒนาตัวเองก็ได้
ตัวอย่าง: บริษัทที่มี Employee of the Month หรือให้พนักงานโหวต เพื่อนร่วมงานที่เป็นแรงบันดาลใจ จะช่วยสร้างแรงจูงใจได้ดี
สรุป
ในโลกธุรกิจยุคดิจิทัล Flywheel Effect คือการสร้างโมเมนตัมจากการทำสิ่งเล็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอ จนเกิดพลังขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงเป้าหมายบ่อย ปรับกลยุทธ์แบบไร้ทิศทาง องค์กรอาจติดอยู่ใน Doom Loop หรือวงจรล้มเหลวที่ทำให้ธุรกิจสะดุด โดยสรุปแล้วความสำเร็จไม่ได้เกิดจากโชค แต่จากการสร้างแรงส่งที่มั่นคง รู้ว่าควรโฟกัสอะไร และเดินหน้าต่ออย่างมีทิศทาง
——
📌 สนใจ Corporate In-House Training ยกระดับทักษะองค์กรด้วย AI-People Enablement Solutions
Sources:
https://thinkinsights.net/strategy/flywheel-effect
https://www.engagementmultiplier.com/resources/the-flywheel-effect-employee-engagement/