เทคนิคเรียนรู้ให้จำติดหัว 'Learning Pyramid'
เทคนิคเรียนรู้ให้จำติดหัว 'Learning Pyramid'
Business
4 นาที
26 ก.พ. 2025
แชร์
Table of contents
เคยเป็นไหม? อ่านหรือเรียนอะไรไปแป๊บเดียว แต่พอเวลาผ่านไปกลับจำไม่ได้ซะแล้ว!
โดยงานวิจัยชี้ว่า 56% ของข้อมูลถูกลืมภายใน 1 ชั่วโมง, 66% ใน 1 วัน และ 75% ภายใน 6 วัน ถ้าไม่หาวิธีจัดการ เราอาจเสียเวลาเรียนรู้ไปเปล่า ๆ โดยใช่เหตุ
วันนี้เรามีเทคนิคการเรียนรู้ที่ช่วยให้จำได้นานขึ้น และนำไปใช้ได้จริง มาดูกันว่า เราจะเรียนอย่างไรให้ไม่ลืม
ต้นแบบแนวคิดวิธีการเรียนรู้ ‘Cone of Experience’
Edgar Dale นักการศึกษาชาวอเมริกัน ได้พัฒนาทฤษฎี Cone of Experience นี้ขึ้นในปี 1946 ซึ่งแบ่งวิธีการเรียนรู้ ออกเป็นระดับต่างๆ ตั้งแต่ การเรียนรู้ที่เป็นนามธรรมมากที่สุด ไปจนถึงการเรียนรู้ที่เป็นประสบการณ์โดยตรง ได้แก่
1️⃣ Passive Learning (การเรียนรู้แบบรับข้อมูลอย่างเดียว)
2️⃣ Active Learning (การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม)
3️⃣ Experiential Learning (การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์โดยตรง)
โดยหลักการของ Edgar นั้นคือการบอกว่า “การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและผ่านประสบการณ์จริง มักให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการเรียนรู้แบบรับข้อมูลเพียงอย่างเดียว”
ต่อมา National Training Laboratories (NTL) ในรัฐเมน สหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาต่อยอดแนวคิดนี้ใหม่เป็นแบบจำลองที่ช่วยอธิบายว่า รูปแบบการเรียนรู้แต่ละประเภทนั้น มีอัตราการจดจำ (Retention Rate) ที่แตกต่างกันอย่างไร โดยจะแบ่งออกเป็น Learning Pyramid 7 ระดับ
7 ระดับการเรียนรู้ ตาม Learning Pyramid
1. การฟังบรรยาย (Lecture) – อัตราการจดจำ 5%
เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่มองว่าจะมีอัตราการจำที่ต่ำที่สุด เพราะเป็นการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องแสดงความเข้าใจหรือนำความรู้ไปใช้ ประมาณการนั่งฟังบรรยายในห้องเรียน หรือในสัมมนาที่เราทำแค่นั่งฟังเฉย ๆ แต่ก็เป็นวิธีที่ฮิตที่สุดในการส่งต่อความรู้ใหม่ ๆ
2. การอ่าน (Reading) – อัตราการจดจำ 10%
แม้จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลโดยตรง แต่การอ่านเพียงอย่างเดียวมักไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจลึกซึ้ง แล้วบางก็อาจจะรู้สึกว่าลืมก็ไว้ค่อยกลับมาอ่านซ้ำได้ ยังไม่ต้องจำตั้งแต่ตอนนี้ก็ได้ เป็นต้น
3. การดูภาพและวิดีโอ (Audio-Visual) – อัตราการจดจำ 20%
เป็นการเรียนรู้ผ่าน วิดีโอ อินโฟกราฟิก ภาพประกอบ หรือพอดแคสต์ ซึ่งช่วยให้ข้อมูลเข้าใจง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับการอ่านเพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังถูกจัดอยู่ในรูปแบบการเรียนรู้ที่นิ่ง ๆ เฉื่อย ๆ ไม่ค่อยได้ Active เท่าไหร่นัก
4. การสาธิต (Demonstration) – อัตราการจดจำ 30%
การสาธิตถือเป็นวิธีการเรียนรู้แบบเชิงรุกวิธีแรกใน The Learning Pyramid ซึ่งการทำให้เห็นทีละขั้นตอน ช่วยเพิ่มการจดจำให้คนเรียนได้ ตัวอย่างเช่น การสอนวิธีเปลี่ยนยางรถที่แบน การสอนวิธีการนี้ในทางปฏิบัติจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการอธิบายขั้นตอนด้วยการพูดให้ฟังเพียงอย่างเดียว
5. การอภิปรายกลุ่ม (Group Discussion) – อัตราการจดจำ 50%
เป็นการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น ซึ่งเป็น Active Learning อีกแบบหนึ่ง เหมือนกับหลาย ๆ องค์กรข้างต้นที่ได้ยกตัวอย่างไป ได้นำไปใช้กันในการเสริมการเรียนรู้พนักงาน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น เพราะผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงแนวคิดกับประสบการณ์ของตนเองได้ดีขึ้น ช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และช่วยให้จดจำความรู้ได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน
6. การฝึกปฏิบัติจริง (Practice by Doing) – อัตราการจดจำ 75%
อาจเรียกอีกอย่างว่า “การลงมือทำ” ถือเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่ง เนื่องจากช่วยให้เราสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติได้จริง การประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัตินี่แหละช่วยให้จดจำข้อมูลได้ในระยะยาว นำไปสู่การคิดวิเคราะห์และความเข้าใจความรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
7. การสอนผู้อื่น (Teach Others) – อัตราการจดจำ 90%
เป็นวิธีการเรียนรู้ที่มี อัตราการจดจำสูงสุด เพราะต้องทำความเข้าใจเนื้อหาอย่างลึกซึ้งก่อนที่จะถ่ายทอดออกไป เพราะการที่เราจะสอนคนอื่นได้ ถ่ายทอดออกไปได้จะต้องเข้าใจเนื้อหานั้นจริง ๆ จำได้ในทุกรายละเอียด เพื่อที่จะสื่อสารออกไปได้อย่างครบถ้วน โดยที่ผู้รับสารก็เข้าใจแบบเดียวกับเราได้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าเวลาหลาย ๆ องค์กรส่งคนไปเรียน ก็มักจะให้นำกลับมาแชร์กับคนในองค์กรเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มการจดจำได้ดีขึ้น
เมื่อได้ลองไปศึกษาแบรนด์ระดับโลกว่ามีเทคนิคการเรียนรู้อย่างไรให้กับทีมงานบ้าง เราจะพบว่าหลายบริษัทเลือกใช้การเรียนรู้แบบ Active Learning และ Experiential Learning คือเป็นการเรียนรู้ที่เน้นประสบการณ์จริง สร้างการมีส่วนร่วมด้วยกัน
ปั้นคนเก่งสไตล์บริษัทระดับโลก เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เน้นมีส่วนร่วม
Google:
เรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วย “g2g” (Googler-to-Googler) เปิดโอกาสให้พนักงานสอนกันเอง
IBM:
สร้างวิธีการทำงานแบบ “IBM Garage Methodology” ให้พนักงานเรียนรู้จากการทำโปรเจกต์จริง
Amazon:
ใช้การอภิปรายกลุ่ม และให้ลงมือทำจริง มี Amazon Technical Academy ให้ได้แลกเปลี่ยนกันด้วย
Tesla:
ใช้การจำลองสถานการณ์และการฝึกปฏิบัติจริง เช่น มี Tesla Training Center ให้วิศวกรและพนักงานฝ่ายผลิตทดลองประกอบชิ้นส่วนรถยนต์จริง
จะสังเกตว่าในหลาย ๆ บริษัทจะเสริมการเรียนรู้ให้กับพนักงานด้วยการ ‘ลงมือทำ > จำ > นำไปใช้’
แม้ว่าพีระมิดการเรียนรู้นี้จะเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยม แต่ก็มีข้อถกเถียงว่า อัตราการจดจำที่ระบุแบบชัดเจนนั้นอาจไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด อย่างไรก็ตามแนวคิดหลักที่ว่าการเรียนรู้แบบ Active Learning (การมีส่วนร่วม) มีประสิทธิภาพกว่าการเรียนรู้แบบ Passive Learning (การรับฟังหรืออ่านเพียงอย่างเดียว) ก็ยังคงเป็นที่ยอมรับ และถูกประยุกต์ใช้กับหลาย ๆ องค์กรที่แตกต่างกันไป
มาลองแชร์กันหน่อยว่าปกติเป็นคนที่เรียนรู้แบบไหนแล้วจำได้เยอะที่สุดบ้าง?
หรือต้องการให้องค์กรของคุณช่วยเสริมศักยภาพของพนักงานในเรื่องไหนเพิ่มอีก มาคุยกัน
——
📌 สนใจ Corporate In-House Training ยกระดับทักษะองค์กรด้วย AI-People Enablement Solutions
Sources:
https://www.cpduk.co.uk/news/what-is-the-learning-pyramid
https://www.verywellmind.com/explanations-for-forgetting-2795045