รู้จัก 'WEB 3.0' อนาคตโลกอินเทอร์เน็ตที่ไร้ตัวกลาง

รู้จัก 'WEB 3.0' อนาคตโลกอินเทอร์เน็ตที่ไร้ตัวกลาง

Tech

3 นาที

30 ส.ค. 2022

แชร์

โลกของอินเทอร์เน็ตจะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ มีการคาดการณ์ว่าพวกเรากำลังจะเข้าสู่ยุคของ Web 3.0 กันแล้ว ว่าแต่ก่อนจะไปถึง 3.0 หลายๆ คน อาจจะงงว่า อ้าว! แล้วเราผ่าน 1 กับ 2 มาตอนไหนกันนะ!? เราจะมาไขข้อสงสัยกันว่าอินเทอร์เน็ตในแต่ละยุคมีความแตกต่างกันตรงไหน และเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Blockchain อย่างไร 

รู้จัก ‘WEB 3.0’ อนาคตโลกอินเทอร์เน็ตที่ไร้ตัวกลาง

ย้อนอดีต Web 1.0 สื่อสารทางเดียว

ยุคแรกสุดที่เกิดเว็บไซต์ขึ้น ในปี 2532 Tim Berners-Lee นักวิศวะคอมชาวอังกฤษเป็นผู้คิดค้นการสื่อสารข้อความแบบ Hypertext กล่าวคือการคลิกที่ข้อความเพื่อลิงก์ไปสู่อย่างอื่น เขาได้ตั้งชื่อสิ่งนี้ว่า WWW (World Wide Web) และมีการเริ่มใช้องค์ประกอบพื้นฐาน เช่น HTTP, HTML และ URL ลักษณะสำคัญของ Web 1.0 คือ การสื่อสารทางเดียว (One-Way Communication) กล่าวคือคนที่แก้ไข จัดการหน้าเว็บไซต์ คือ ผู้ดูแลเว็บไซต์ (Webmaster) แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

ยุคปัจจุบัน Web 2.0 สื่อสารสองทาง

เริ่มตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา เว็บไซต์ยุคนี้ยังคงคุณสมบัติพื้นฐานของ Web 1.0 ไว้ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือสามารถโต้ตอบกันได้มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็น การสื่อสารสองทางแล้ว (Two-Way Communication) กล่าวคือผู้เข้าชมเว็บไซต์สามารถโพสต์คอมเมนต์ แชร์ กดไลค์ต่างๆ ได้ หรือกระทั่งเป็นผู้เผยแพร่ Content เอง ที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า UGC (User-Generated Content) สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิด Community บนโลกออนไลน์ขึ้่นมา กลายเป็น Facebook, Twitter, Pantip ฯลฯ ที่พวกเราน่าจะคุ้นเคยกันดี แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นการสื่อสารสองทางแต่ยังคงต้องอาศัย “ตัวกลาง” อยู่ เช่น Meta ผู้ให้บริการ Facebook ก็สามารถเข้าถึงแชทที่เราคุยกับเพื่อนได้ แม้ว่าในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้มีใครมานั่งอ่านแชทเรากับเพื่อน แต่หากมีอำนาจในการเข้าถึง และจะทำจริงๆ ก็ย่อมทำได้ หรือการที่ Twitter รู้พฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของเราว่าชอบอ่านคอนเทนต์ในลักษณะใดเพื่อนำไปใช้ประมวลผลและเสิร์ฟคอนเทนต์ให้ตรงใจเราต่อไป เป็นต้น ด้วยข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเหล่านี้จึงพัฒนาไปสู่แนวคิดของ Web 3.0

Web 3.0 โลกอนาคตที่ “ไร้ตัวกลาง”

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า Web 3.0 จะเป็นยุคอินเทอร์เน็ตแห่งอนาคตอันใกล้ที่เข้ามาทำให้ข้อมูลต่างๆ มีความปลอดภัย และน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น แล้วเหตุใด “ความไร้ตัวกลาง” จึงมีความปลอดภัย? ลองนึกภาพตามว่าเราเข้าไปใช้บริการเว็บไซต์หนึ่งแล้วโพสต์ข้อความบางอย่าง ผู้พัฒนาเว็บไซต์นั้นสามารถแก้ไข ดัดแปลง บิดเบือนข้อความของเราได้ โดยที่เราไม่รู้ได้ หรือการที่เราฝากเงินกับธนาคารแล้ววันหนึ่งสมุดบัญชีหาย ธนาคารก็บอกว่าเราเงินเราเหลืออยู่แค่ 1 บาท ถ้าไม่มีหลักฐานที่เก็บไว้ก็ยากที่จะฟ้องร้องตัวกลางเหล่านี้ได้ เป็นต้น

ขณะที่เทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น AI, Machine Learning ล้วนเป็นรากฐานที่สำคัญในการเข้าสู่ยุค Web 3.0 เพราะช่วยลดตัวกลาง “มนุษย์” ให้คอมพิวเตอร์เป็นตัวคิดวิเคราะห์แทน และอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยในยุคนี้ คือ Blockchain

Business people browsing the web on a screen by rawpixel.com via freepik.com

Blockchain กับ Web 3.0

Blockchain คือเทคโนโลยีที่ Block ของข้อมูลต่อกันเป็น Chain หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ใดที่หนึ่ง ข้อมูลที่เชื่อมจากแหล่งอื่นๆ ก็จะมองเห็น และอัปเดตเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทำให้เกิดการบิดเบือนข้อมูลได้ยากมาก เพราะทุกอย่างเชื่อมกันหมดแบบ ไร้ตัวกลาง (Decentralization) นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเรื่อง ฉันทามติ (Consensus) คือการที่ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลระหว่างกันเองได้ เพื่อความโปร่งใส และความตรงกันของข้อมูล ซึ่งตรงกับแนวคิดของ Web 3.0 พอดี

Gavin James Wood ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum คริปโตฯ ชื่อดังระดับโลก ได้ก่อตั้งมูลนิธิ Web3 (Web3 Foundation) ขึ้นเพื่อ ให้คนรู้จัก Web 3.0 มากขึ้น และมีนโยบายผลักดันให้ Web 3.0 กลายเป็นมาตรฐานใหม่ และมีผู้ใช้งานให้มากขึ้น โดยวิสัยทัศน์ของเขาคือการที่อินเทอร์เน็ตในอนาคตจะไม่มีเซิร์ฟเวอร์ การกระจายอำนาจให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถควบคุมข้อมูล ตัวตน รวมถึงกำหนดทิศทางต่างๆ ได้เองอย่างเป็นอิสระ

จริงๆ แล้วพวกเราขาข้างหนึ่งได้เข้าไปอยู่ในยุค Web 3.0 แล้ว จึงเรียกได้ว่าเป็นโลกอนาคตที่ใกล้ตัวมากๆ มีบางเว็บไซต์ที่เริ่มนำแนวคิด Web 3.0 มาใช้ เช่น OpenSea เว็บไซต์ซื้อขาย NFTs หรือเว็บไซต์ Uniswap เว็บไซต์แลกเปลี่ยนคริปโตฯ แบบไร้ตัวกลาง ต้องรอดูกันต่อไปว่าวันที่โลกอินเทอร์เน็ตไร้ตัวกลางอย่างแท้จริงจะมาถึงเมื่อไหร่ เพราะตราบใดที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังคงต้องผ่านผู้ให้บริการกลางคงยังไม่สามารถนับได้ว่าพวกเราเข้าสู่ Web 3.0 อย่างเต็มตัว

Source : Forbes  , beartai 
————————————————-
สามารถติดตามความรู้และคอร์สเรียนที่น่าสนใจจาก True Digital Academy ได้ทุกช่องทาง
Website – https://bit.ly/3e9QZPw 
Facebook – https://bit.ly/391XSkF
LinkedIn – https://bit.ly/3p7x08V 
Instagram – https://bit.ly/2LwX5Ra
TiKTok – https://bit.ly/3v8e0wV

แชร์