ทำโฆษณาออนไลน์ปี 2022-2023 แพลตฟอร์มไหนใช้ยังไงให้ปัง !?

ทำโฆษณาออนไลน์ปี 2022-2023 แพลตฟอร์มไหนใช้ยังไงให้ปัง !?

Business

4 นาที

20 ก.ย. 2022

แชร์

ในช่วงโควิดที่ผ่านมาสถานการณ์ของเงินโฆษณาบนสื่อเก่า (Traditional Media) นั้นถดถอยลง แต่สถานการณ์โฆษณาสื่อดิจิทัล (Digital Media) กลับเป็นไปในทางบวก โดยข้อมูลจาก สมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย (DAAT) เผยว่า ปี 2021 มีเม็ดเงินหมุนเวียนในโฆษณาสื่อดิจิทัลถึง 24,766 ล้านบาท เติบโต 18% ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจในช่วงท้ายปี และการใช้เงินโฆษณาเพิ่มขึ้นของกลุ่มธุรกิจ E-Commerce และในปี 2022 นี้มีการคาดการณ์ว่าเงินลงทุนในสื่อดิจิทัลยังเติบโตได้ถึง 9% ด้วยมูลค่า 27,040 ล้านบาท

image by @storyset via freepik.com

โดยหนึ่งในสิ่งสำคัญในการทำโฆษณาออนไลน์คือ “การคำนึงถึงกลุ่มผู้ชม” โดยเริ่มจากพิจารณาจากกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการว่าต้องการสื่อสารกับใคร เพื่อนำมาสู่การเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะสม หากเทียบกับการโฆษณาแบบ Traditional Marketing จะคล้ายกับการเลือกว่าโฆษณาของเราควรจะไปอยู่ในช่องและรายการอะไรดี ผู้ชมเป็นใคร อายุเท่าไหร่ ทว่าจุดท้าทายของยุค Digital Marketing คือแพลตฟอร์มมีจำนวนเยอะ และหลากหลายขึ้นมาก รวมถึงกลุ่มผู้ใช้ที่แตกต่างกัน นักการตลาดและคนทำธุรกิจจึงต้องเลือกกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์ม วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาอัปเดตในหัวข้อนี้กัน

โฆษณาออนไลน์ปี 2022-2023 แพลตฟอร์มไหนใช้ยังไงให้ปัง !?

ข้อมูลจาก Statista เดือนก.พ. ปี 2022 เผย 5 อันดับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่ “คนไทยบนโลกออนไลน์” ใช้เยอะมากที่สุด (Penetration Rate) ดังนี้

โฆษณาออนไลน์ปี 2022-2023 แพลตฟอร์มไหนใช้ยังไงให้ปัง

1.Facebook
━ เข้าถึงคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ต 93.3% แม้ปัจจุบันเด็กๆรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 20 อาจจะไม่ค่อยได้ใช้แล้ว แต่เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่มีมานาน จึงมีกลุ่มอายุคนอายุ 25-34 ปี และผู้สูงอายุที่อยู่เยอะ และได้รับความนิยมทั่วประเทศ และเป็นพื้นที่ที่คนแชร์ข้อมูลถิ่นที่อยู่อาศัยกันเป็นปกติ เหมาะกับการทำการตลาดแบบเจาะกลุ่มคนในแต่ละท้องที่ หรือการสร้างชุมชนออนไลน์ และยิงแอดทั่วไป โดยลักษณะ content ที่แนะนำคือ รูปภาพ ลิงก์ ข้อมูล และการทำ Live

2.LINE
━ เข้าถึงคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ต 92.8% หากพูดถึงแพลตฟอร์ม Instant Messenger ในประเทศไทยก็ยังคงต้องยกให้ LINE เป็นอันดับหนึ่ง ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่สูง และถูกนำไปใช้ในหลายจุดประสงค์ ตั้งแต่ใช้ติดต่อสื่อสารกับเพื่อน ครอบครัว โรงเรียน และทำงาน จึงทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่อยู่แยกกับคนไทยแทบไม่ขาด กลุ่มผู้ใช้ค่อนข้างครอบคลุมทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะ กลุ่มอายุ 25-34 และ 35-44 ปี เหมาะกับการทำการตลาดในลักษณะเป็นพื้นที่สะสมแต้ม สื่อสารอัปเดตข้อมูล โปรโมชัน และเก็บลูกค้าไว้เป็นฐานข้อมูล โดยลักษณะ content ที่แนะนำคือ ข้อความ, รูปภาพ, rich message, rich menu, timeline post

3.Facebook Messenger
━ เข้าถึงคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ต 84.7% ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่ได้อานิสงค์มาจากผู้ใช้งานของ Facebook แต่ฟังก์ชั่นและกลุ่มผู้ใช้งานไม่ได้ทับซ้อนกัน 100% อีกทั้งยังมีฟังก์ชัน และรูปแบบการโฆษณาที่แตกต่างกัน กลุ่มผู้ใช้ตั้งแต่ อายุ 18-24, 25-34 และ 35-44 ปี เหมาะกับการทำตลาดในลักษณะเป็นพื้นที่ปิดการขาย โดยผ่านการใช้บอท หรือแอดมินที่เป็นคน ลักษณะ content ที่แนะนำคือ ข้อความ, รูปภาพ, ลิงก์

4.TikTok
━ เข้าถึงคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ต 79.6% แพลตฟอร์มสุดฮอตแห่งปี มาแรงแซงโค้งมากในช่วงโควิดที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มผู้ใช้หลักเป็น Gen Z อายุ 10-19 ปี และเกินครึ่งเป็นผู้หญิง โดยพฤติกรรมการใช้งานที่น่าสนใจ คือ มีความ Active สูง 90% ของผู้ใช้เปิดแอปหลายครั้งต่อวัน เหมาะกับการทำตลาดด้วย Influencer โดยลักษณะ Content ที่แนะนำคือ วีดิโอ ฟิลเตอร์ ที่เน้นความบันเทิง และความตลกนำ หรือการทำ Challenge ต่างๆ

5.Instagram
━ เข้าถึงคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ต 68.7% กลุ่มผู้ใช้หลักอายุ 18-24 และ 25-34 ปี เหมาะกับการทำตลาดด้วยกลยุทธ์ E-Commerce และเน้น Organic Engagement และใช้ Influencer ลักษณะ content ที่แนะนำคือรูปภาพ ข้อความ และวีดิโอ ที่เน้นการสร้างแรงบันดาลใจ และการออกไปผจญภัย ท่องโลก เปิดประสบการณ์ใหม่ หรือการใช้ IG Story ทำ Poll หรือ Questionnaire เพื่อสร้าง Engagement

โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงการทำการตลาดในโลกออนไลน์ สิ่งแรกที่ทุกคนอาจจะนึกถึงน่าจะเป็น “ยิงแอด” (Ad ย่อมาจากคำว่า Advertising = การโฆษณา) แต่สิ่งที่อยากฝากให้คนกำลังทำการตลาดออนไลน์ หรือกำลังจะเริ่มทำ คำนึงถึงไว้เสมอคือ “การยิงแอดไม่ใช่คำตอบเดียวของการตลาดดิจิทัล” เป็นเพียงหนึ่งในวิธีทำการตลาดดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เท่านั้น การสร้างและสื่อสารแบรนด์ผ่านการยิงแอดควรทำควบคู่กับการตลาดดิจิทัลรูปแบบอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ได้ผลดีและแบรนด์มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างทักษะการตลาดดิจิทัลอื่นๆ ที่ควรใช้ควบคู่กับการทำ Digital Marketing

  • Data Analysis (การวิเคราะห์ข้อมูล) มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการวิเคราะห์ประสิทธิภาพจากการยิงแอด และการทำการตลาดดิจิทัลอื่นๆ เพื่อลดต้นทุนการโฆษณา ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้นในอนาคต
  • Content Creation (การสร้างคอนเทนต์) หากต้องการให้แบรนด์มีคุณค่ากับผู้บริโภค แบรนด์จำเป็นจะต้องมอบสิ่งที่ผู้ใช้รู้สึกว่ามีประโยชน์กับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในเชิงให้ความรู้ หรือความบันเทิงก็ตาม
  • SEO & SEM (การจัดการ Search Engine) ให้ค้นหาเว็บไซต์ของแบรนด์ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้แบรนด์ดูน่าเชื่อถือ และเพิ่มโอกาสในการมองเห็น และเป็นที่รู้จักได้มากยิ่งขึ้น
  • CRM (การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า) ทั้งการนำเสนอโปรโมชันผ่าน Email หรือ LINE การสะสมคะแนน แลกคะแนนต่างๆ รวมถึงการเก็บข้อมูลของลูกค้า และให้สิทธิพิเศษต่างๆ ล้วนเป็นการรักษาฐานของลูกค้าให้อยู่คู่แบรนด์ไปนานๆ และเกิดการซื้อซ้ำในอนาคต
  • Basic Design Skills (ความรู้ด้านดีไซน์เบื้องต้น) จะช่วยให้ทำการตลาดบนโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะคนบนโลกออนไลน์ชอบสื่อในลักษณะรูปภาพ ทั้งแบบภาพนิ่งและเคลื่อนไหว

ในยุคแห่งโลกดิจิทัลนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำอาชีพอะไรก็ตาม การมีความรู้เกี่ยวกับดิจิทัลให้มากที่สุด ย่อมเป็นผลดีกับแบรนด์ งาน และตัวเราเอง หากเราสามารถหาความรู้และอัปเดตเทรนด์ต่างๆ เพื่อเสริมทักษะใหม่ๆ ให้กับตัวเองอยู่เสมอจะช่วยเปิดโอกาสทางด้านอาชีพ และธุรกิจได้มากยิ่งขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

Source : wordstream , bloomberg , michaelpage , datareportal, twfdigital
————————————————-
สามารถติดตามความรู้และคอร์สเรียนที่น่าสนใจจาก True Digital Academy ได้ทุกช่องทาง
Website – https://bit.ly/3e9QZPw 
Facebook – https://bit.ly/391XSkF
LinkedIn – https://bit.ly/3p7x08V 
Instagram – https://bit.ly/2LwX5Ra
TiKTok – https://bit.ly/3v8e0wV

แชร์