Digital Language 101 ศัพท์น่ารู้โลกดิจิทัล EP.2

Digital Language 101 ศัพท์น่ารู้โลกดิจิทัล EP.2

Business

2 นาที

13 ส.ค. 2021

แชร์

In Basic Thai vs In Basic Digital ช่วงแนะนำคำศัพท์น่ารู้ในโลกดิจิทัล จาก True Digital Academy ที่จะช่วยให้ทุกคนรู้จักและเข้าใจวงการดิจิทัลและเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น กลับมาต่อกันใน EP.2  วันนี้เราขอนำเสนอคำศัพท์เกี่ยวกับ “ความฉลาดของคอมพิวเตอร์” คำไหนรู้แล้วว้าวต้องรีบจด ไปดูกันเลย 


AI /เอ-ไอ/
คำนี้อาจได้ยินกันบ่อย ซึ่ง AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence แปลตรงๆ ตัวว่า “ความฉลาดสังเคราะห์” ฟังดูไม่ค่อยกิ๊บเก๋ ราชบัณฑิตยสถานเขาเลยบัญญัติคำนี้ในภาษาไทยว่า​ “ปัญญาประดิษฐ์” ซึ่งเจ้า AI มันก็คือ ระบบความคิดที่มีการวิเคราะห์คำนวนจากข้อมูลที่ซับซ้อนมากจนผลลัพธ์ของการคิดนั้นออกมาดูฉลาดเหมือนมนุษย์คิดเลยทีเดียว ปัจจุบัน AI ถูกใช้งานในหลากหลายด้าน เช่น AI Chatbot ใช้ตอบคำถามลูกค้า หรือ AI ที่ใช้ทำนายผลการแข่งขันกีฬา AI Go ที่เก่งจนสามารถล้มแชมป์หมากรุกญี่ปุ่น(โกะ) ได้ และอีกมากมาย

ML /เอ็ม-แอล/
Machine Learning คำนี้ยังไม่มีศัพท์บัญญัติเฉพาะในภาษาไทย อาจเพราะว่ายังไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางนักในประเทศไทย แต่คนทำงานในสายดิจิทัลนิยมเรียกกันด้วยชื่อย่อ ML มากกว่า ML เป็นศาสตร์ที่ต่อเนื่องมาจาก AI คือ เมื่อเรามี AI ที่วิเคราะห์คำนวนจากข้อมูลที่ซับซ้อนแล้ว หากเราทำให้ AI ของเรามี ML เสริมเข้าไปด้วย มันจะกลายเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ยิ่งเหมือนมนุษย์เข้าไปกันใหญ่ เพราะมีการ “เรียนรู้” และ “พัฒนา” ตัวเองได้ด้วย! เราแค่ปล่อยให้ระบบทำงานไปเรื่อยๆ มันก็จะเก่งขึ้นได้จากการสั่งสมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ผ่านมา ยิ่งทำงานนาน มีข้อมูลเยอะ ปรับปรุงพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ยิ่งฉลาดขึ้น คูลเวอร์ๆ

DL /ดี-แอล/
ความหมายตรงตามชื่อ Deep Learning คือการเรียนรู้เชิงลึกของระบบ AI นี่เอง ซึ่งวิวัฒนาการเป็นภาคต่อมาจาก ML อีกที โดย DL เป็นการเรียนรู้ที่เลียนแบบการทำงานของโครงข่ายประสาทมนุษย์ แม้จะฟังดู Sci-fi แต่นี่เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นแล้วบนโลกจริงๆ ความ “Deep” ที่ว่าก็คือในแง่ของการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจะถูกจัดวางโครงสร้างเป็นชั้นๆ (Layer) จนเกิดโครงข่ายประสาทเทียมขึ้นมา ทำให้สามารถตัดสินใจได้เองอย่างชาญฉลาด ไม่ต้องมีมนุษย์มาคอยช่วย ปัจจุบัน DL เริ่มถูกนำมาใช้งานแทนที่มนุษย์หลายงาน (เพราะตัดสินใจได้ดี) อาทิ ผู้ช่วยเสมือน รถยนต์ไร้คนขับ ระบบจดจำใบหน้า เป็นต้น

Algo /อัล-โก/
Algorithm ถูกบัญญัติเป็นภาษาไทยตามราชบัณฑิตยสถานว่า “ขั้นตอนวิธี” ค่อนข้างตรงตัว แต่ไม่ค่อยเข้าใจว่าหมายถึงขั้นตอนอะไร จึงมักใช้กันทับศัพท์ไปเลยว่า Algorithm (อัลกอริทึม) และบางครั้งในวงการเทคฯ อาจจะเขียนย่อๆ ว่า Algo หรือ Alg โดยนิยามฉบับแปลไทยเป็นไทยของ “อัลกอริทึม” คือ “คำสั่งหรือเงื่อนไขแบบทีละขั้นตอนที่จะทำให้หุ่นยนต์นั้นทำสิ่งที่เรากำหนดให้” จริงๆ แล้วเวลามนุษย์เราตัดสินใจอะไร เราก็ใช้อัลกอริทึมช่วยในการคิดอยู่แล้ว เช่น การลำดับความสำคัญของงานที่ต้องทำ ในสมองเราก็มีชุดคำสั่งที่ใช้ในการจัดลำดับความสำคัญไว้อยู่แล้ว แต่ละคนอาจจะมีอัลกอรึทึมในการคิดต่างกัน บางคนให้ลำดับความสำคัญกับ “ความเร่งด่วน” บางคนให้ความสำคัญกับ “ผลประโยชน์/ค่าตอบแทน” ก่อน ปัจจุบัน Algo นิยมนำมาใช้ประโยชน์กับการสืบค้นข้อมูล (Searching) และจัดเรียงข้อมูล (Sorting) นั้นเอง

แชร์