5 Steps ตอบคำถาม “การวัดผลผลิตภัณฑ์” แบบ PM มือโปร
5 Steps ตอบคำถาม “การวัดผลผลิตภัณฑ์” แบบ PM มือโปร
Business
4 นาที
07 มี.ค. 2024
แชร์
Table of contents
วันนี้เราอยากจะชวนให้ทุกคนมาลองจินตนาการดูว่าหากกำลังสัมภาษณ์งานที่ Spotify แล้วเจอคำถามเกี่ยวกับ การวัดผลผลิตภัณฑ์ จะตอบอย่างไรดี

💡การวัดผลผลิตภัณฑ์คืออะไร?
การวัดผลผลิตภัณฑ์ คือกระบวนการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ว่าตรงกับความต้องการของผู้ใช้หรือไม่ และบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจหรือไม่ โดยการวัดผล PM จะต้องเลือกมาตรวัด (Metrics) และวิธีการให้เหมาะสมและสะท้อนประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ได้จริง😎 5 Steps ตอบคำถาม “การวัดผลผลิตภัณฑ์” แบบ PM มือโปร
1. ทวนคำถามให้ชัดเจน
ในการสัมภาษณ์ เรามีควรตั้งคำถามเพื่อให้แน่ใจว่าเราเข้าใจโจทย์ชัดเจน และตรงกับสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการถาม
2. ระบุผลิตภัณฑ์ ผู้ใช้ และคุณค่าที่นำเสนอ
แม้เราและผู้สัมภาษณ์จะรู้จักผลิตภัณฑ์นั้นอยู่แล้ว แต่การทบทวนถึงสิ่งเหล่านี้ เป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการพูดคุยเกี่ยวกับตัวชี้วัด โดยเป็นการกำหนดบริบทสำหรับตัวชี้วัด
3. ระบุตัวชี้วัดหลัก
ตัวชี้วัดหลัก (Core Metric) หรือที่บางครั้งเรียกว่าตัวชี้วัดดาวเหนือ (North Star Metric) เป็นตัวชี้วัดสำคัญของความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ ซึ่งควรจะสอดคล้องกับคุณค่าหลักที่ผลิตภัณฑ์นำเสนอและวิสัยทัศน์ระยะยาว ตัวอย่างเช่น สำหรับแอปโซเชียลมีเดียที่ต้องการขายพื้นที่โฆษณา จึงอยากให้ผู้ใช้กลับมาใช้ซ้ำทุกวัน และอยู่ในแอปให้นานที่สุด ตัวชี้วัดอาจเป็น “ผู้ใช้งานแอคทีฟประจำวัน (Daily Active User : DAU)” หรือ “ระยะเวลาที่ใช้บนแอปต่อวัน (Time Spent per Day)” เป็นต้น
4. แตกย่อยตัวชี้วัดอื่น ๆ จากตัวชี้วัดหลัก
เมื่อเราระบุตัวชี้วัดหลักได้แล้ว ก็ต้องแตกย่อยตัวชี้วัดอื่น ๆ โดยใช้แผนผังตัวชี้วัด (Metrics Tree) ตัวอย่างเช่น หากตัวชี้วัดหลักของโซเชียลมีเดียคือ “การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ (User Engagement)” ตัวชี้วัดย่อยอาจจะเป็น “จำนวนโพสต์ต่อผู้ใช้ (Posts per User)” หรือ “ระยะเวลาเซสชันเฉลี่ย (Average Session)” เพราะยิ่งมีโพสต์เยอะ และใช้เวลาในแต่ละหน้านาน ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น อาทิ กดไลก์ กดแชร์ การแตกย่อยนี้จะช่วยให้เข้าใจว่าอะไรที่จะส่งผลกระทบต่อตัวชี้วัดหลักในเชิงบวกบ้าง
5. คิดถึงตัวชี้วัดตรงข้ามด้วย!
ตัวชี้วัดตรงข้าม (Counter Metrics) คือด้านกลับของตัวชี้วัดความสำเร็จ (Success Metrics) เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าการมุ่งเน้นไปที่ตัวชี้วัดหลักจะไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ ตัวอย่างเช่น การเพิ่ม “การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ (User Engagement)” ไม่ควรมาพร้อมกับการสูญเสียความเป็นส่วนตัว (Privacy) หรือความพึงพอใจของผู้ใช้ (User Satisfaction) ตัวชี้วัดตรงข้ามจะช่วยรักษาสมดุลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
แนวทางตอบเมื่อเจอคำถามสัมภาษณ์ “หากคุณต้องเป็น PM ของ Spotify จะใช้ Success Metrics อะไรในการวัดผลผลิตภัณฑ์?”
💡 ถามผู้สัมภาษณ์กลับว่าหมายถึงผลิตภัณฑ์ Spotify ทั้งหมดในภาพรวม หรือแค่เฉพาะส่วนสตรีมเพลง และพอดแคสต์
💡 ถามผู้สัมภาษณ์กลับว่าจะให้พิจารณา Spotify ในประเทศ/ภูมิภาคไหน เนื่องจากแต่ละพื้นที่ Spotify อยู่ในวัฏจักรของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) ที่แตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดลำดับความสำคัญว่าเป็นช่วงต้นต้องเน้นการยอมรับ (Adoption) และการดึงลูกค้า (Acquisition) หรือช่วงเติบโตที่ต้องเน้นรายได้ (Revenue) และการมีส่วนร่วม (Engagement)
💡 พูดทบทวนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ วิสัยทัศน์ กลุ่มเป้าหมาย คุณค่าที่ผลิตภัณฑ์มอบให้หรือมาแก้ปัญหาให้กลุ่มเป้าหมาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแพลตฟอร์ม เพื่อให้มีความเข้าใจสอดคล้องกับผู้สัมภาษณ์
💡 เข้าประเด็นเรื่องตัวชี้วัดหลัก โดยคิดและอธิบายเชิงเหตุผล เช่น
“ผม/ดิฉัน คิดว่าต้องเริ่มจากคุณค่าสำหรับผู้ใช้ ทั้งผู้ฟังเพลงและผู้สร้างเพลง ฝั่งผู้ฟัง เวลาการฟังจะสะท้อนถึงความพึงพอใจกับเนื้อหา ส่วนฝั่งผู้สร้างเวลาการฟังที่มากจะทำให้เข้าถึงผู้ชมได้กว้างขึ้น และในส่วนคุณค่าสำหรับบริษัทเรา เวลาการฟังที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับ ระยะเวลา Session ของผู้ใช้ในแพลตฟอร์มที่ยาวนานขึ้น โอกาสในการสร้างรายได้จากโฆษณาเพิ่มขึ้น จึงคิดว่าตัวชี้วัดหลักน่าจะเป็น “ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ฟังเพลงต่อสัปดาห์”
💡อธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกวัดผลเป็นรายสัปดาห์ ไม่ใช่รายเดือน หรือรายวัน เช่น “รายเดือนต้องรอนานเกินไปสำหรับการวัดผล กว่าจะรู้ผลอาจจะไม่รู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในแพลตฟอร์มของเรา ในขณะที่รายวันก็ถี่เกินไป นอกจากจะมีค่าความคาดเคลื่อนสูง ยังมองไม่เห็นแพทเทิร์นด้วย”
หากโดนถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่จะส่งผลต่อตัวชี้วัดที่เราเลือกบ้าง ให้ทำการแตกย่อยตัวชี้วัด เช่น
- “ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ฟังเพลงต่อสัปดาห์” คำนวนมาจาก
จำนวนผู้ใช้แพลตฟอร์ม x ระยะเวลาเฉลี่ยที่แต่ละคนใช้ - “จำนวนผู้ใช้แพลตฟอร์ม” คำนวนมาจาก จำนวนผู้ทดลองใช้ + จำนวนผู้ใช้แบบฟรี + จำนวนผู้ใช้แบบพรีเมียม
- “ระยะเวลาเฉลี่ยที่แต่ละคนใช้” คำนวนมาจาก เวลาใช้งานเฉลี่ยต่อ session x จำนวน session ทั้งหมดที่มี
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าสิ่งที่ส่งผลได้แก่ จำนวนผู้ทดลองใช้, จำนวนผู้ใช้แบบฟรี, จำนวนผู้ใช้แบบพรีเมียม, เวลาใช้งานเฉลี่ยต่อ session, จำนวน session ทั้งหมดที่มี หากต้องการสร้างผลลัพธ์ของตัวชี้วัดในทางบวก ก็จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนสิ่งเหล่านี้
💡 นอกจากนี้ควรเสริมเรื่องตัวชี้วัดตรงข้าม เช่น “อาจจะมีกรณีที่จำนวนเพลงที่ผู้ใช้ฟังลดลง แต่จำนวนพอดแคสต์ที่ฟังกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ใช้แบบนี้อาจจะไม่สะท้อนในตัวชี้วัดความสำเร็จที่เสนอไปก่อนหน้านี้ เลยคิดว่าควรติดตามตัวชี้วัดตรงข้ามเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าเรามากันถูกทาง เช่น จำนวนเพลงที่ถูกเล่นต่อสัปดาห์, จำนวนพอดแคสต์ที่ถูกเล่นต่อสัปดาห์, เวลาที่ใช้ฟังเพลงต่อสัปดาห์ม เวลาที่ใช้ฟังพอดแคสต์ต่อสัปดาห์”
ตัวชี้วัดความสำเร็จ (Success Metrics) ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนสุขภาพ และทิศทางของผลิตภัณฑ์ได้ ในฐานะ PM จึงต้องเรียนรู้ทักษะในการกำหนด วิเคราะห์ และตีความตัวชี้วัดเหล่านี้ ในการสัมภาษณ์งานสุดท้ายแล้วไม่ใช่แค่การตอบคำถามให้ถูกต้อง แต่ คือการแสดงให้เห็นถึงแนวคิดเชิงวิเคราะห์ มุ่งเน้นผู้ใช้ และความเข้าใจวิธีการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ด้วย
source : medium.com
————————————————-
เปิดรับสมัครแล้ว Product Management รุ่น 7 🔥
หลักสูตรที่จะทำให้คุณก้าวสู่การเป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Product Manager) ได้อย่างมืออาชีพ ด้วยการเรียนรู้ผ่านหลักสูตร World Class เน้นลงมือทำจริง โดยผู้สอนที่มีประสบการณ์จากบริษัทเทคชั้นนำระดับสากล
📍รับรายละเอียดหลักสูตร คลิก https://www.truedigitalacademy.com/campaign/pdmbc07_campaign
✅หรือติดต่อทีม Admission โดยตรงได้ที่ 083-974-0906
————————————————-
.
