ถอดรหัส 5 แบรนด์ดัง ใช้ Data-Driven ดันธุรกิจให้ปังไม่หยุด
ถอดรหัส 5 แบรนด์ดัง ใช้ Data-Driven ดันธุรกิจให้ปังไม่หยุด
Business
5 นาที
14 ก.พ. 2025
แชร์
Table of contents
ทีนี้เราจะลองมาดูตัวอย่างกันว่าแบรนด์ต่าง ๆ ได้ใช้ดาต้าในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และดาต้านั้นสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจได้อย่างไร
เปิดกลยุทธ์ 5 แบรนด์ดัง! ใช้ Data สร้าง Impact ให้ธุรกิจ
1. The Marriott Hotels: เปลี่ยน Data เป็นประสบการณ์ไม่รู้จบ
Marriott หนึ่งในเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่สามารถใช้ Big Data มาสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า พร้อมเพิ่มรายได้ให้กับแบรนด์ในเวลาเดียวกัน
หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ Dynamic Pricing ที่มีการปรับเปลี่ยนราคาตามปัจจัยต่างๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก สภาพอากาศ อัตราการเข้าพัก และพฤติกรรมการจองหรือยกเลิกของลูกค้า ซึ่งกลยุทธ์นี้ช่วยให้รายได้ต่อห้องพักเพิ่มขึ้นถึง 5% นอกจากนี้ Marriott ยังได้ทดลองนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้เข้าพักมากขึ้น อาทิ ร่วมมือกับ Alibaba ในการนำเทคโนโลยีเช็กอินด้วยการจดจำใบหน้า ซึ่งช่วยลดเวลาการเช็กอินจาก 3 นาที เหลือเพียง 1 นาที รวมถึงการนำ Amazon Echo เข้าไปติดตั้งในห้องพัก เพื่อให้แขกสามารถสั่งงานผ่าน Alexa แทนการติดต่อพนักงาน เช่น การเปิดไฟ ปรับอุณหภูมิ หรือขอข้อมูลเกี่ยวกับโรงแรม
การนำ Data และเทคโนโลยีเข้ามาผสานกับการให้บริการ ช่วยให้ Marriott สามารถ เข้าใจพฤติกรรม ความต้องการ และข้อกังวลของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การพัฒนาบริการที่ตรงใจ และสร้างประสบการณ์ที่เหนือกว่าคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง
2. Amazon: ยืนหนึ่งอีคอมเมิร์ซที่ขยับด้วย Data
นี่คือธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่สุดในโลก ที่บอกว่า 35% ของรายได้นั้นมาจาก Personalized Recommendations โดยการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้ เช่น รายการที่ดู รายการที่เพิ่มลงในตะกร้า หรือการซื้อ ที่ช่วยให้เกิดการแนะนำสินค้าเฉพาะบุคคลได้
อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญคือ Dynamic Pricing โดย Amazon สามารถปรับราคาสินค้าสูงสุด 2.5 ล้านครั้งต่อวัน ตามพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า ราคาของคู่แข่ง และความต้องการของตลาด กลยุทธ์นี้ทำให้ Amazon สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเสนอราคาที่เหมาะสมและดึงดูดใจลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา
นอกจากการกำหนดราคา Amazon ยังใช้ Data-Driven Inventory Management หรือการบริหารสินค้าคงคลังด้วยข้อมูล โดยอิงจากประวัติการขาย เพื่อดูว่าสินค้าใดเป็นที่ต้องการสูง และกระจายสินค้าเหล่านั้นไปยังศูนย์กระจายสินค้าที่อยู่ใกล้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย วิธีนี้ช่วยให้สินค้าถูกจัดส่งถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น และลดปัญหาสินค้าขาดสต็อกหรือค้างสต็อกโดยไม่จำเป็น ซึ่งช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของ Amazon ลงได้ถึง 10%
3. Netflix: ปรับแพลตฟอร์มให้ตรงเทสทุกคนด้วย AI อัจฉริยะ
จากแพลตฟอร์มสตรีมมิง สู่แพลตฟอร์มที่แนะนำหนังให้เราดูได้ แม้ว่าวันนั้นไม่รู้ว่าจะดูอะไรก็ตาม ทั้งหมดนี้มาจากการพัฒนา และปรับปรุงแพลตฟอร์มด้วยข้อมูลทั้งสิ้น ซึ่งทำให้ Netflix สามารถรักษาฐานสมาชิกได้สูงถึง 93% ซึ่งเป็นอัตราการรักษาลูกค้าที่สูงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจ Subscription อื่น ๆ
ถ้ามาลองเจาะลึกกันเข้าไปจะพบว่า ระบบของการแนะนำหนังของ Netflix เริ่มต้นจากการรวบรวมข้อมูลที่ละเอียดมาก ๆ ตั้งแต่ Viewing History, Viewing Context, Interaction Data, อัตราการดูจบ, รูปแบบการรับชมซ้ำ, อุปกรณ์ที่ใช้ดู ซึ่งจะช่วยให้ Netflix ปรับคำแนะนำให้ตรงกับความต้องการของเราได้แม่นยำยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเพิ่งดู “The Crown” จบ อย่าตกใจหาก “Bridgerton” ปรากฏขึ้นเป็นลำดับต่อไป
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่น่าสนใจของ Netflix คือการ เปลี่ยนภาพปกของซีรีส์หรือภาพยนตร์แบบไดนามิก หากลองเปรียบเทียบกับเพื่อน คุณอาจสังเกตได้ว่าภาพปกของเรื่องเดียวกันอาจแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นเพราะ Netflix ทดสอบภาพปกหลายแบบผ่าน A/B Testing เพื่อค้นหาว่าภาพไหนที่ดึงดูดความสนใจของคุณมากที่สุด เช่น หากคุณชื่นชอบแนว Sci-Fi และมักดูหนังสไตล์นี้ Netflix อาจแสดงภาพปกของ Black Mirror ที่ดูเป็นแนวอนาคต แต่หากเพื่อนของคุณชอบแนวสยองขวัญ Netflix อาจแสดงภาพปกที่เน้นฉากลึกลับและน่ากลัวแทน
4. Spotify: เปลี่ยนผู้ฟังให้กลายเป็นนักการตลาดให้แบรนด์
ถ้าพูดถึง Spotify ฟีเจอร์หนึ่งที่มาแรงทุกปีคือ ‘Spotify Wrapped’ ซึ่งเป็นการรวบรวมไฮไลท์เพลงเฉพาะบุคคลที่สร้างขึ้นแบบอัตโนมัตให้กับผู้ใช้งานทุกคนในทุกปี
Spotify Wrapped เป็นการสรุปประวัติการฟังเพลงของผู้ใช้งานตลอดทั้งปี หลัก ๆ แล้วจะเน้นที่ศิลปิน เพลง อัลบั้ม ประเภท วันที่สตรีม และเวลาที่ใช้ในการฟัง โดย Spotify จะติดตามทุกสิ่งที่คุณสตรีม ตั้งแต่วินาทีที่คุณกดเล่นเพลง จะรวบรวมข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับพฤติกรรมของคุณ รวมถึงเพลง อัลบั้ม แนวเพลง และพอดแคสต์ที่คุณชอบ แสดงผลออกมาเป็นข้อมูล Visual ที่ส่งถึงผู้ใช้มากกว่า 400 ล้านคนในวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี และเราก็จะเริ่มเห็นคนแชร์ลงโซเชียลกันเพียบเพื่อที่จะบอกถึงตัวตนของเราผ่านการฟังเพลง โดย Spotify Wrapped ประจำปี 2024 ก็มียอดผู้ชมใน 12 ชั่วโมงแรกมากกว่า 24 ชั่วโมงแรกของ 2023 ถึง 26%
5. สัมมากร: พลิกเกมปั้น Branding จากความเข้าใจผิด
ในฝั่งของแบรนด์ไทยก็ไม่แพ้แบรนด์ระดับโลก โดยในปี 2024 หลายคนคงได้เห็นโฆษณาของ แบรนด์สัมมากร ที่พูดถึง “สัมมากร ไม่ใช่ สรรพากร” ซึ่งไม่เพียงแค่สร้างกระแสในประเทศ แต่ยังคว้ารางวัล Spike Asia 2024 และ ADFEST 2024 มาได้ด้วยแคมเปญที่เกิดจากการใช้ ข้อมูล Insight ที่แบรนด์ได้เรียนรู้จากการสื่อสารกับลูกค้า
โฆษณาแคมเปญนี้เริ่มต้นจาก pain point ที่ทีมขายของสัมมากร ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พบว่า มีความเข้าใจผิดจากผู้คนมากมาย เนื่องจากชื่อแบรนด์ไปคล้ายกับ “สรรพากร” ที่เป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษีของรัฐ ผู้คนหลายคนเลยทักแชทมาถามเรื่องภาษี หรือปรึกษาเรื่องการเงินแทนที่จะเป็นการซื้อขายบ้าน ทำให้สัมมากรต้องหาวิธีแก้ปัญหานี้และลบความเข้าใจผิดออกไป ด้วยการสร้างแคมเปญที่ชื่อว่า “เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว แม้ว่าเธอจะไม่เคยมองว่าฉันเป็นบริษัทขายบ้านเลย”
ผลลัพธ์จากแคมเปญนี้น่าทึ่งมาก เพราะได้รับการพูดถึงจากในสื่อเป็นวงกว้างและได้รับความนิยมจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ตั้งใจเข้าถึง และยังคว้ารางวัลถึง 27 รางวัลจากเวทีไทยและเวทีระดับโลกมาครองด้วย
จะดึง Data มาใช้ให้ดี ต้อง C.L.E.A.R ให้ชัด
อย่างที่รู้กันดีว่าดาต้ามีหลายประเภท หลายแบบในการจะเลือกใช้ ดังนั้นองค์กร คนทำงานที่อยากจะดึงดาต้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็ต้องเคลียร์ให้ชัดก่อนว่าเราจะเอาอย่างไรกับดาต้านี้
✅ Context – เข้าใจบริบทของข้อมูล
ก่อนจะเริ่มใช้ข้อมูล เราต้องเข้าใจก่อนว่าต้องการข้อมูลประเภทใด และข้อมูลนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรหรือโครงการมากน้อยเพียงใด เพื่อให้มั่นใจว่าเราได้เลือกข้อมูลที่ตรงจุดและตอบโจทย์การใช้งานจริง
✅ Legal & Ethical – ใส่ใจกฎหมายและจริยธรรม
การใช้ข้อมูลต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องตามกฎหมายและเคารพความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลของลูกค้าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่ลูกค้ามอบให้
✅ Essential – เลือกสรรสิ่งที่จำเป็น
การเลือกข้อมูลไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ แต่อยู่ที่คุณค่าและความจำเป็นต่อการตัดสินใจ หลีกเลี่ยงการเก็บข้อมูลมากเกินความจำเป็นจนยากต่อการบริหารจัดการหรือนำไปใช้ประโยชน์
✅ Accuracy – รับรองความแม่นยำ
แหล่งที่มาของข้อมูลคือหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อต้องนำไปใช้ในการคาดการณ์หรือวางแผนกลยุทธ์ ข้อมูลที่ไม่แม่นยำหรือล้าสมัยอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดและเพิ่มความเสี่ยงให้กับองค์กร
✅ Relevance – เชื่อมโยงกับธุรกิจ
ข้อมูลที่เลือกใช้ต้องเชื่อมโยงโดยตรงกับธุรกิจหรือเป้าหมายของโครงการ อย่าหลงไปกับความหลากหลายหรือปริมาณของข้อมูล เพราะอาจนำไปสู่ความสับสนและยุ่งยากในการจัดการ
สรุป : การใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาดไม่เพียงช่วยสร้าง movement ใหม่ๆ ให้กับองค์กร แต่ยังเป็นทักษะสำคัญที่ผู้ทำงานด้านข้อมูลต้องฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย
ติดต่อ [email protected]
——
Sources:
ceohangout.com
bornfight.com
userpilot.com
datalemur.com
analyticsvidhya.com
thematter.co
gwi.com
forbes.com