สรุป 15 Key Takeaways จาก Future of Jobs Report 2023

สรุป 15 Key Takeaways จาก Future of Jobs Report 2023

Business

5 นาที

30 พ.ค. 2023

แชร์

การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ “งาน” ในโลกยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไป มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย บางอาชีพเป็นที่ต้องการมากขึ้น แต่บางอาชีพก็อาจจะไม่ได้ไปต่อ ดังนั้นการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำสัญ

โดยล่าสุดทาง World Economic Forum ได้เผยแพร่รายงาน  Future of Jobs Report 2023 มีความหนากว่า 300 หน้า! 📕 เนื้อหาครอบคลุมการวิเคราะห์ทุกมิติที่กระทบต่องานในอนาคต โดยทำการสำรวจมุมมองของบริษัทกว่า 803 แห่ง ซึ่งมีพนักงานรวมกันมากกว่า 11.3 ล้านคน ใน 27 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 45 เขตเศรษฐกิจจากทุกภูมิภาคทั่วโลก การสำรวจครอบคลุมคำถามเกี่ยวกับ เทรนด์มหภาค (Mega Trends) เทรนด์ด้านเทคโนโลยี ผลกระทบต่องาน ผลกระทบต่อทักษะ และกลยุทธ์ด้านแรงงานที่ธุรกิจต่างๆ วางแผนจะใช้ในปี 2023-2027 วันนี้เราได้นำ Key Findings สำคัญ ที่ได้จากรายงานฉบับนี้ มาอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ กัน ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย

15 Key Takeaways จาก Future of Jobs Report 2023



1. เทรนด์ด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานทั่วโลกในปี 2023

— โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางจะมีอัตราการว่างงานสูงกว่ายุคก่อน COVID-19 นอกจากนี้แรงงานที่มีเพียงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้หญิงจะพบปัญหาการจ้างการในระดับตำแหน่งที่ต่ำกว่า ในขณะเดียวกัน ค่าจ้างกลับลดลง ซึ่งมีสาเหตุมาจากวิกฤตค่าครองชีพ ความคาดหวังของคนทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป และความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของงาน


2. Technology Adoption จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ของการพลิกโฉมธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า

— กว่า 85% ขององค์กร ระบุว่า มีการนำเทคโนโลยีใหม่และล้ำหน้ามาใช้มากขึ้น และการเข้าถึงดิจิทัลที่กว้างขึ้น

3. กระแสการเปลี่ยนด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ สร้างผลกระทบต่อการสร้างงานใหม่ ๆ และลบล้างงานเก่า ๆ ครั้งใหญ่ที่สุด

— โดยงานใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มมาจากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คีย์เวิร์ดที่สำคัญคือ ESG ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social และ Governance เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งจะถูกนำมาใช้กับธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่นมากขึ้น ในขณะที่งานที่สูญหายไปเกิดจากการเติบโตทางเศรฐกิจที่ชะลอตัว การขาดแคลนวัตถุดิบและต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น


4. Big Data, Cloud Computing และ AI มีแนวโน้มได้รับการยอมรับมากที่สุด

บริษัทมากกว่า 75% กำลังจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ภายใน 5 ปีข้างหน้า ดิจิทัลแพลตฟอร์มและแอปฯ เป็นเทคโนโลยีที่องค์กรต่าง ๆ สำรวจจะนำมาใช้มากที่สุดถึง 86% E-commerce และค้าขายแบบดิจิทัลจะมีบริษัทนำไปใช้ 75% ขณะที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงาน และเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger) มีการพูดถึงน้อย

5. ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อตลาดงานจะส่งผลโดยรวมในเชิงบวก ในอีก 5 ปีข้างหน้า

— แม้ว่าการวิเคราะห์ Big data เทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อม (environmental management technologies) และการเข้ารหัส (Encryption) และความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตของตลาดงาน และบริษัทจำนวนมากมีการคาดการณ์ว่าจะเลิกจ้างงานในองค์กรของตน ทว่าภายใน 5 ปี ผลกระทบเหล่านี้จะถูกชดเชยด้วยการเติบโตของงานซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลรวมในเชิงบวก

6. เหล่านายจ้างคาดการณ์ว่าตลาดแรงงานเชิงโครงสร้างจะมีการเลิกจ้างงาน 23% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

— โดยธุรกิจที่มีอัตราการเลิกจ้างงานสูงกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ Supply Chain การคมนาคม และสื่อ ความบันเทิง กีฬา ส่วนธุรกิจที่มีอัตราการเลิกจ้างงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ โรงงานการผลิต ธุรกิจค้าส่งและปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค

7. เส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรมีการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจต่าง ๆ นำระบบอัตโนมัติ (Automation) เข้ามาใช้ในการทำงานช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

— องค์กรในปัจจุบันประเมินว่า 34% ของงาน ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งหมดจะดำเนินการโดยเครื่องจักร และ 66% ที่เหลือดำเนินการโดยมนุษย์

Image freepik.com

8. เกิดการเติบโตและการถดถอยของงานบางประเภท

— เทคโนโลยี (Technology) การเปลี่ยนแปลงเป็นดิจิทัล (Digitalization) และความยั่งยืน (Sustainability) จะส่งผลต่อกลุ่มงานที่มีการเติบโตเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับขนาดอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ส่วนงานที่มีแนวโน้มถดถอยเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับขนาดอุตสาหกรรมในปัจจุบัน อาทิ งานเสมียนหรือเลขานุการ พนักงานธนาคาร งานธุรการ เสมียนบริการไปรษณีย์ งานเก็บเงิน ขายตั๋ว งานคีย์ข้อมูล ธุรกิจการค้ารูปแบบเก่า เป็นต้น นอกจากนี้มีการคาดการณ์ว่าตลาดงานด้านดิจิทัลเทคโนโลยี อาทิ AI และ Machine Learning นักวิเคราะห์และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล สำหรับทักษะที่จะเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับคนทำงานในปี 2023 คือทักษะ “การคิดวิเคราะห์” และ “ความคิดสร้างสรรค์”

Future of Jobs Report 2023 Image: World Economic Forum


9. นายจ้างคาดการณ์ว่า 44% ของทักษะของแรงงานปัจจุบันจะกลายเป็นทักษะที่ “ไม่เป็นที่ต้องการ” ในอีก 5 ปีข้างหน้า

— ทักษะในการคิดจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นในงาน โดยทักษะที่จะมีความสำคัญมากที่สุดได้แก่ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์เล็กน้อย และทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ทักษะการรับรู้ระดับความสามารถของตนเอง และทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นก็ถูกพูดถึงเช่นกัน

10. แรงงาน 6 ใน 10 คนควรจะต้องได้รับการเทรนเพิ่มเติม ก่อนปี 2027 แต่ปัจจุบันมีเพียงแค่ 50% เท่านั้นที่เข้าถึงโอกาสในการฝึกอบรมที่เพียงพอ

— โดยทักษะสำคัญที่บริษัทส่วนใหญ่มีแผนจะจัดการเทรนในปี 2023-2027 คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะการใช้ AI และ Big Data ในขณะที่คุณสมบัติเชิงบุคคลที่ถูกพูดถึงได้ แก่ ทักษะความเป็นผู้นำและสร้างอิทธิพลทางสังคม ทักษะความยืดหยุ่น ปรับตัว Agile และ ความใฝ่รู้ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

11. ทักษะที่บริษัทต่าง ๆ รายงานว่ามีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ได้สะท้อนให้เห็นในกลยุทธ์ Upskilling ขององค์กรเสมอไป


12. บริษัทมั่นใจในแผนการพัฒนาทักษะของตนเอง แต่กลับไม่ค่อยมั่นใจในความพร้อมของบุคลากรในอีก 5 ปีข้างหน้า

— การสำรวจพบว่า 48% ของบริษัท ให้ความเห็นว่าการปรับปรุง แผนการพัฒนาบุคลากร และกระบวนการเลื่อนตำแหน่ง จะเป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มคนทำงานที่มีความสามารถภายในองค์กร รวมถึงการเพิ่มค่าจ้าง และการ Upskills & Reskills

13. เหล่าบริษัทระบุว่าการลงทุนในการเรียนรู้ การฝึกอบรมภาคปฏิบัติ และระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) เป็นกลยุทธ์ด้านแรงงานที่ใช้กันมากที่สุด เพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจขององค์กร

—4 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสอบถาม คาดว่าจะใช้กลยุทธ์เหล่านี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

14. บริษัทส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับผู้หญิง (79%) เยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี (68%) และผู้ทุพพลภาพ (51%) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด Diversity, Equity และ Inclusion (DEI) ที่เน้นให้ความสำคัญเรื่องหลากหลาย ความเสมอภาค และการรวมกลุ่ม ภายในองค์กร

— มีเพียงบริษัทบางส่วนระบุว่าจะให้ความสำคัญมากขึ้นกับผู้ที่ด้อยโอกาสทางศาสนา ชาติพันธุ์ หรือเชื้อชาติ (39%) คนงานที่มีอายุมากกว่า 55 ปี (36%) ผู้ที่ระบุว่าเป็น LGBTQI+ (35%) และผู้มีรายได้น้อย (33%)

15. 45% ของธุรกิจมีความเห็นว่าการสนับสนุนเงินทุนสำหรับการฝึกอบรมทักษะจากภาครัฐเป็นเรื่องดี หากต้องการจับคู่ผู้มีความสามารถเข้ากับการจ้างงาน

— เหล่าบริษัทมองเห็นว่านโยบายจากภาครัฐควรจะลงเงินทุนสำหรับการจัดเทรนทักษะ ปรับปรุงระบบการจ้างงานและเลิกจ้างที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ปรับปรุงอัตราภาษีและสร้างจูงใจอื่น ๆ เพื่อให้บริษัทปรับปรุงค่าจ้างได้ การปรับปรุงระบบโรงเรียนและการศึกษา รวมถึงเปลี่ยนแปลงกฎหมายคนเข้าเมืองสำหรับชาวต่างชาติที่มีความสามารถ



จากบทสรุป Key Findings 15 ข้อนี้ ทำให้พวกเราเห็นว่า “เทคโนโลยี” เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของโลกการทำงานในยุคใหม่ สิ่งสำคัญที่องค์กรและปัจเจกบุคคลต้องให้ความสำคัญคือเพิ่มพูนทักษะแห่งอนาคตให้กับแรงงาน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการในตลาดงานในอนาคตอันใกล้นี้


Source: World Economic Forum

แชร์